เหล่าผู้วางนโยบายการเงินในธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) กำลังพยายามเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าจะไม่ทำอะไรเพิ่มเติมไปมากกว่านี้และจะเดินเกมตามนโยบายการเงินของประธานาธิบดีคนใหม่นายโจ ไบเดนที่กำลังจะขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ ไม่ว่าไบเดนต้องการนโยบายการเงินแบบไหน เฟดก็ให้สัญญาว่าพร้อมที่จะสนับสนุน
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวผ่านการสนทนาทางไกลในงานสัมมนาที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยปรินส์ตันว่า
“หากคิดจะออกจากตลาดลงทุนในตอนนี้ ระวังว่าจะตัดสินใจออกจากตลาดเร็วไป ในขณะเดียวกัน หากคิดจะออกจากตลาดลงทุนจริงๆ จงอย่าบอกคนอื่น เพราะกำลังมีคนที่รอฟังความคิดนี้ของคุณอยู่”
เราเชื่อว่าคำพูดนี้ของเจอโรม พาวเวลล์เป็นไปเพื่อทำให้นักลงทุนสงบลง หลังจากที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางแห่งแอดแลนต้ากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเฟดอาจเปิดการประชุมเพื่อถกเถียงกันเกี่ยวกับความจำเป็นในการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายในปีนี้
อันที่จริงแล้ว ทั้งสองคนไม่ได้มีความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้มากขนาดนั้น นายเจอโรม พาวเวลล์เองก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นได้ในไม่ช้าเหมือนกับที่เขากล่าวในงานสัมมนานี้ว่า
“เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถกลับไปในช่วงปี 2019 ได้ ผมมั่นใจว่าอีกไม่นานฝันร้ายนี้จะผ่านไป”
นับตั้งแต่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจไปสองครั้ง เฟดก็ไม่เคยแสดงท่าทีใดๆ เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเลย จนกระทั่งนายอีริก โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางบอสตันกล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของโจ ไบเดนมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นคนแรกว่า “เหมาะสมแล้ว” เขาให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า
“ถึงจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีวงเงินมหาศาล แต่ผมมองว่านี่คือสิ่งจำเป็นและสมควรทำจนกว่าประชาชนชาวอเมริกันจะได้รับวัคซีนครบทุกคน ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน มีคนตกงานมากมายที่ไม่สามารถกลับมามีงานทำได้ ดังนั้นเราจึงต้องการเงินเยียวยามาช่วยเหลือพวกเขาให้ผ่านความยากลำบากนี้ไปได้”
เมื่อ CNBC ถามโรเซนเกรนว่ามีความกังวลไหมว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศต้องเจอกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อ แต่โรเซนเกรนก็ให้คำตอบกับประเด็นนี้ว่า “ผมยังไม่กังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจนกว่าสภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้นมากกว่านี้” เลล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการของเฟดได้เน้นถึงความสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า
“การกระตุ้นเศรษฐกิจยังสำคัญตราบใดที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงในบางภาคส่วน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินว่าอัตราการว่างงานของผู้ที่ได้รับเงินเดือนระดับล่างสุดยังอยู่สูงที่ 20% ในขณะที่อัตราการว่างงานของลูกจ้างระดับสูงยังอยู่ต่ำกว่า 5%”
นายริชาร์ด แคลลิด้า รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเน้นย้ำว่าเฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถขึ้นแตะ 2% ได้ ในขณะที่คณะกรรมการทางด้านการเงินบางคนยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้หรือไม่ เพราะมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่หากช่วยเหลือแล้วอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นเกินกว่า 2% นายเอสเตอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางเมืองเคนซัสกล่าวว่า
“อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มธุรกิจการบินและโรงแรม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับมาประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงจะยิ่งทำให้การควบคุมปริมาณเงินในภาคส่วนนี้ทำได้ยาก”
สิ่งที่นักวิเคราะห์กำลังจับตาดูเป็นอย่างมากคือการกลับมาของคริส วอลล์เลอร์ ในอดีตเขาเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางเมืองเซนต์หลุยส์ แต่ตอนนี้เขาได้กลับมาเป็นสมาชิกคนที่หกของบอร์ดบริหารธนาคารกลางสหรัฐฯ และจะเข้าร่วมการประชุมของเฟดในฐานะผู้มีสิทธิ์โหวตให้คะแนนนโยบายการเงินในการประชุมเฟดวันที่ 26-27 มกราคมนี้
แม้ว่าโดยปกติแล้ว คริส วอลล์เลอร์ มักจะเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ไม่ได้เชื่อในการผ่อนคลายหรือรัดกุมทางการเงินมากนัก แต่ชอบปล่อยไปตามสถานการณ์ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงประเมินว่าการประชุมครั้งนี้ คริสคงจะไม่ได้ขัดขวางมติส่วนใหญ่ของที่ประชุม