สกุลเงินยูโรถือเป็นสกุลเงินเดียวที่สามารถแข็งค่าสู้กับดอลลาร์สหรัฐและเยนได้อย่างน่าประหลาดใจแม้ว่าผู้นำเยอรมันนางอังเกลา แมร์เคิลจะออกมาประกาศเตือนว่าการล็อกดาวน์อาจจะต้องดำเนินต่อไปอีกแปดถึงสิบสัปดาห์หากตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิดยังไม่ลดลง
“หากเราไม่สามารถควบคุมไวรัสนี้ได้ภายในสิบสัปดาห์ สถานการณ์การระบาดภายในประเทศก่อนอิสเตอร์จะรุนแรงมากยิ่งกว่านี้ถึงสิบเท่า”
หากเป็นเช่นนั้นจริง หมายความว่าประชาชนชาวเยอรมันจะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ไปจนถึงอย่างน้อยปลายเดือนพฤษภาคม เพื่อต่อสู้กับโควิด ประเทศเยอรมันได้มีการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และมาตรการต่างๆ อย่างเช่นการจำกัดการเดินทาง การปิดโรงเรียนและธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าไม่จำเป็นก็ถูกปรับให้มีความเข้มงวดขึ้นเรื่อยมาจนถึงสัปดาห์นี้
การประกาศล็อกดาวน์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ปี 2020 และไตรมาสที่หนึ่งปี 2021 คือสิ่งที่เยอรมันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความจริงแล้วสกุลเงินยูโรควรที่จะอ่อนค่าลง แต่เพราะได้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนและอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเข้ามาหนุน จึงทำให้ตลาดหุ้นยุโรปและสกุลเงินยูโรยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น เราเคยเห็นกันมาแล้วในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กราฟ EUR/USD ยังอยู่ในขาขึ้นได้โดยไม่สนใจข่าวการแพร่ระบาดรอบที่สองในช่วงแรกๆ ถามว่าครั้งนี้กราฟจะปรับตัวลดลงหรือไม่? ในความเห็นของเราอาจจะต้องรอให้ตลาดหุ้นวิ่งลงมาปรับฐานสักพักหนึ่งก่อน กราฟ EUR/USD ถึงจะยอมวิ่งลงตาม
ในขณะเดียวกัน สกุลเงินปอนด์ยังแข็งค่าได้อยู่เพราะคำแถลงการณ์จากผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษนายแอนดรูว์ ไบลีย์ แม้จะสหราชอาณาจักรจะมีปัญหาการแพร่ระบาด แต่ผู้ว่าการกลับเลือกที่จะไปถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยจนลงมาอยู่ในระดับติดลบ พร้อมกันนี้เขายังแสดงความเห็นว่ายังเร็วไปหากจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปัจจุบัน แถลงการณ์เช่นนี้หมายความว่าการแพร่ระบาดส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าที่ท่านผู้ว่าการประเมินเอาไว้
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีขึ้นไม่มาก มีข่าวลือออกมาว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจพิจารณาลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่ก็อย่างที่เราเห็นกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในอเมริกายังไม่ถือว่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเรื่องนี้ก็ถือว่าฟังหูไว้หูกันไปก่อน นักลงทุนสามารถพิจารณาได้ด้วยตัวเองว่าข่าวลือมีเค้าลางจะเป็นจริงหรือไม่ด้วยการดูรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันนี้ที่คาดการณ์กันว่าจะออกมาดีขึ้น ตัวเลขดังกล่าวสามารถใช้เป็นตัวบอกใบ้อัตราเงินเฟ้อได้หากราคาก๊าซธรรมชาติและค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยมีการปรับเพิ่มขึ้น ส่วนทิศทางของสกุลเงินดอลลาร์นั้นเชื่อว่าจะยังแข็งค่าต่อไปได้หากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ออกมาดี
เมื่อวานนี้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์นิวซีแลนด์และดอลลาร์ดอลลาร์แคนาดา เพราะสัปดาห์นี้สกุลเงินทั้งสามไม่มีรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดังนั้นทิศทางของกราฟจึงขึ้นอยู่กับการแข็งหรืออ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและแนวโน้มตลาดหุ้นภายในประเทศ