หลังจากกระตุ้นเศรษฐกิจไปขนานใหญ่ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมปี 2020 หลังจากนั้น นักลงทุนก็ได้เห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดพยายามโต้คลื่นปรับสมดุลทางการเงินให้เป็นไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐภายใต้กรอบความคิดที่ว่า “ยิ่งเฟดเข้าไปยุ่งกับนโยบายการเงินน้อยเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับเศรษฐกิจมากเท่านั้น” นี่คือคำพูดของนายแพททริก ฮาร์กเกอร์ ประธานธนาคารกลางรัฐฟิลาเดเฟีย
ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว
ฮาร์กเกอร์เห็นด้วยที่เฟดไม่เปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับการซื้อบอนด์ที่ตั้งวงเงินเอาไว้ $80,000 ล้านเหรียญสหรัฐและ $40,000 ล้านเหรียญสำหรับตราสารการเงินที่ผู้ซื้อลงทุนในสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MBS) ในแต่ละเดือน แต่ที่เขาแนะนำเพิ่มเติมก็คือในอนาคตเฟดจะต้องลดวงเงินในส่วนนี้ลงหากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในสิ้นปี 2021
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่ากับนิตยสาร “Philadelphia Business Journal” เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “รู้สึกผิดหวังกับความเร็วในการกระจายวัคซีนต้านโควิด” เพราะนั่นจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังล่าช้าออกไปด้วย ในความคิดของเขา สถานการณ์ในไตรมาสแรกจะไม่แตกต่างไปจากปี 2020 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนั้นหากมีการจัดการที่ดี การฟื้นฟูก็อาจจะชดเชยความเสียหายในช่วงครึ่งปีแรกได้ นอกจากนี้บางสาขาอาชีพอาจไม่กลับมาแล้วหลังจากยุคโควิดผ่านไป
รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในบอร์ดผู้วางนโยบายทางการเงินนายริชาร์ด แคลริด้ากล่าวต่อสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่านโยบายการซื้อสินทรัพย์ของเฟดจะมีต่อไปตลอดทั้งปี 2021 แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม
“จากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มี ผมคิดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่จะสามารถลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ลงได้ ตอนนี้เฟดพร้อมแล้วที่จะได้ทำงานร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่นางเจเน็ต เยลเล่น อดีตผู้นำธนาคารกลางของพวกเรา สำหรับสถานการณ์การบุกเข้าไปในรัฐสภานั้น ผมเองก็เหมือนชาวอเมริกันทุกคนที่รู้สึกเสียใจและเจ็บแค้นต่อการย่ำยีประวัติศาสตร์ชาติของเรา”
นายโทมัส บาร์กกิ้น ประธานธนาคารกลางแห่งริชมอนต์เห็นด้วยกับความเห็นของฮาร์กเกอร์ที่มองว่าการกระจายวัคซีนในตอนนี้นั้นช้าเกินไป เขากล่าวเสริมว่าส่วนตัวแล้ววัคซีนควรจะสามารถเข้าถึงประชาชนชาวอเมริกันเกิน 60% ได้ภายในหน้าร้อนนี้ นอกจากนี้ เขารู้สึกยินดีที่ได้เห็นกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทะยานขึ้นเกิน 1% แต่ในขณะเดียวกันนั่นก็หมายถึงอัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นตามการวางหมากของเฟด
นายชาร์ลี อีแวน ประธานธนาคารกลางแห่งชิคาโกค่อนข้างกังวลและสงสัยว่าอัตราเงินเฟ้อขึ้นมาเร็วขนาดนี้ได้อย่างไรแม้จะเข้าใจดีว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนตัวแล้วเขาเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่สามารถขึ้นเกิน 2% ได้จนกว่าจะถึงปี 2023 และเฟดอาจจะต้องรอไปจนถึงกลางปี 2024 เลยกว่าจะได้กลับมาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายใต้นโยบายการเงินที่มีอัตราเงินเฟ้อเกิน 2%
นางแมรี ดาลีประธานธนาคารกลางแห่งซานฟรานซิสโกเชื่อว่าเมื่อการจ้างงานกลับมา เมื่อนั้นอัตราเงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้นเอง ส่วนนายเจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางแห่งเซนต์หลุยส์คิดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้
อันที่จริงแล้ว ประธานธนาคารกลางทุกท่านทราบดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่อาจฟื้นตัวได้เต็มกำลัง อย่างที่ประธานธนาคารกลางแห่งแอตแลนต้าสรุปเอาไว้ว่า
“จนกว่าโรคระบาดนี้จะถูกควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเราก็จะล่าช้าเช่นนี้ต่อไป แต่ถ้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาเร็วกว่าที่คาด เฟดก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่างแต่คงไม่ใช่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน เพราะอย่างเร็วที่สุดกว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ก็ต้องรอไปจนถึงปลายปี 2022 หรือช่วงต้นปี 2023 แต่กว่าจะถึงตรงนั้น เฟดยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการก่อน”