หลังจากการประชุมโอเปกพลัสสิ้นสุดลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดกลับไม่ได้ขึ้นไปอย่างที่ตลาดหวังไว้ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่าขาขึ้นครั้งนี้จะจบลงที่สถิติห้าสัปดาห์ติดต่อกันอย่างนั้นหรือ? ทั้งๆ ที่พึ่งมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนโควิดเข้ามาแท้ๆ
ข้อมูลราคาซื้อขายน้ำมันดิบในช่วงตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา น้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเวลา 2:00 PM ตามเวลาท้องถิ่นสิงคโปร์ (1:00 AM ET) เชื่อว่าตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันมาจากยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นจนมีมาตรการล็อกดาวน์ใหม่ในหลายๆ พื้นที่ซึ่งรวมไปถึงโซนทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาด้วย
นอกจากนี้ขาขึ้นที่ชะลอตัวของราคาน้ำมันยังเกิดจากความผิดหวังของนักลงทุนที่ไม่ได้เห็นวัคซีนต้านโควิดของออกมาจากสามบริษัทผู้ผลิตยาชื่อดังอย่างเช่นไฟเซอร์ (NYSE:PFE) ทั้งที่รับปากเอาไว้ว่าจะได้เห็นตัวจริงของวัคซีนตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้
การประชุมโอเปกที่พึ่งผ่านไปนับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นซาอุดิอาระเบียยอมทำตามความต้องการของกลุ่มมากกว่าที่จะทำตามความต้องการของนักลงทุน ครั้งนี้ซาอุดิอาระเบียได้พยายามประนีประนอมมากที่สุดในการลดกำลังการผลิตแล้ว แต่ผลที่ออกมาก็คือต้องเพิ่มการผลิตตามความต้องการของกลุ่มโดยจะเริ่มเพิ่มวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2021 เป็นต้นไป แต่ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับตลาดน้ำมันดิบมากกว่านั้นคือสถานการณ์การผลิตน้ำมันในประเทศอิหร่าน
หลังจากที่ได้รับสิทธิ์ให้สามารถผลิตน้ำมันชดเชยได้ ตอนนี้มีข่าวรายงานจากรอยเตอร์ว่าอิหร่านกำลังเร่งการผลิตน้ำมันขึ้นอย่างสุดโควตาการผลิตของตน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเตรียมตัวขายน้ำมันให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาสามเดือนหลังจากที่โจ ไบเดน จะขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อจากทรัมป์ในวันที่ 20 มกราคมและคาดว่าจะมีการเจรจาเรื่องมาตรการคว่ำบาตรกันใหม่
ในรายงานดังกล่าวยังระบุเอาไว้ด้วยว่านายกรัฐมนตรีของอิหร่านมีความต้องการที่จะพาประเทศกลับไปสู่ยุคที่เคยผลิตน้ำมันได้ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2018 ก่อนที่จะทรัมป์จะพาอเมริกาออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ และโดนคว่ำบาตรซึ่งนั่นทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก การคาดการณ์จึงนำมาซึ่งความเชื่อที่ว่าการเข้ามาของโจ ไบเดนจะทำให้กำลังการผลิตน้ำมันของอิหร่านเพิ่มขึ้นและเมื่อประกอบกับมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกจะทำให้เกิดปัญหาน้ำมันล้นตลาดหรือไม่
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการประชุมโอเปกครั้งนี้ อิหร่านเองก็เป็นฝ่ายที่โหวตค้านเรื่องการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย และบีบให้พี่ใหญ่ทำตามข้อเรียกร้องประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั้งที่อิหร่านเองก็ได้รับสิทธิพิเศษในการผลิตน้ำมันในตอนนี้อยู่แล้ว เกมการเมืองที่เกิดขึ้นภายในนำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมทุกคนยังต้องเชื่อคำพูดของกลุ่มโอเปกอยู่?” ที่ผ่านมาตลอดหกทศวรรษ โอเปกก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากลุ่มตัวเองมีชื่อเสียงเรื่องพูดอย่างทำอย่าง หลายครั้งที่ซาอุดิอาระเบียต้องลุกขึ้นมาทำโทษประเทศสมาชิกที่แอบผลิตนำมันเกินโควตาราวกับครูที่คอยจ้องที่จะทำโทษนักเรียนก็ไม่ปาน
ไปดูที่ฝั่งสินค้าแร่โลหะมีค่าอันดับหนึ่งอย่างทองคำกันดูบ้างที่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้หนึ่งสัปดาห์ และอาจมีโอกาสทำสถิตินี้ให้เพิ่มขึ้นกลายเป็นสองสัปดาห์ติดต่อกันได้ ราคาซื้อขาย ทองคำล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์บนตลาด COMEX เมื่อวันจันทร์ในตลาดลงทุนเอเชียพบว่ามีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,845 ต่อออนซ์ ปรับตัวขึ้นมาอีก 0.2% หรือประมาณ $4
นักวิเคราะห์บางกลุ่มประเมินว่าขาขึ้นที่ดีที่สุดในสัปดาห์นี้อาจทำให้ราคาขึ้นไปยัง $1,880 หรือ $1,900 ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อไหร่ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วโจ ไบเดนบอกว่าเงินที่จะนำมาเยียวยาเศรษฐกิจจะต้องมีจำนวนหลัก “หลายแสนล้านเหรียญ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2021 ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาสูงที่เคยออกเงินเยียวยามูลค่า $3,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปในครั้งที่แล้วดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกนอกจากยอมรับจำนวนเงินเยียวยามูลค่า $908,000 ล้านเหรียญสรัฐที่เป็นข่าวว่ายังพูดคุยกันอยู่ก่อนหน้านี้
อย่าลืมว่าเพราะเงินจำนวน $3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐก้อนนี้ที่ส่งให้ทองคำขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลเหนือ $2000 ได้เป็นครั้งแรก และยังส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนจนมีราคาตกต่ำลงตลอดทั้งปีอย่างที่เห็น จึงไม่แปลกที่นักลงทุนทองคำจะคาดหวังกับข่าวนี้มากว่าคือตัวช่วยเพียงตัวเดียวที่สามารถกระตุ้นขาขึ้นของทองคำได้ดีที่สุดในเวลานี้ ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็กำลังวางแผนที่จะช่วยซื้อบอนด์เพิ่มหลังจากได้เห็นตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์มากถึงเพียงนั้น (ตัวเลขจริง 245,000 ตำแหน่งเทียบกับคาดการณ์ 470,000 ตำแหน่ง)
Ed Moya นักวิเคราะห์ตลาดลงทุนอาวุโสจาก OANDA วิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า
“การล็อกดาวน์ และมาตรการคุมเข้มที่เพิ่มขึ้นเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจสร้างแผลเป็นให้กับตลาดแรงงานและนั่นอาจทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้มาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล"
Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จาก SK Dixit Charting ประเมินสถานการณ์ของทองคำว่า
“จากพฤติกรรมการวิ่งของทองคำแสดงให้เห็นว่าราคาต้องการกลับขึ้นไปยืนเหนือ $1,900 อีกครั้ง แต่เพราะนักลงทุนไม่กล้าออกตัวแรงเพราะต้องการรอข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงทำได้เพียงส่งทองคำขึ้นมายืนรอที่ $1,866 - $1,870 เอาไว้ก่อน”