เมื่อวันศุกร์ที่แล้วดอลลาร์สหรัฐปิดตลาดลงทุนด้วยการอ่อนค่าต่อจากวันก่อนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะอย่างที่เราทราบกันดีตลาดสกุลเงินถือเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวมากกว่าตลาดหุ้น การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สะท้อนให้เห็นความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ และผลกระทบของมันที่มีต่อเศรษฐกิจ ดัชนีที่วัดบรรยากาศความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนเมื่อวันศุกร์คือตัวบ่งชี้แรกที่บอกให้นักลงทุนได้ทราบว่าชาวอเมริกันมีความรู้สึกอย่างไรหลังการเลือกตั้ง ตัวเลขที่ออกมาหดตัวอย่างรุนแรงไม่เพียงบอกเราว่าพวกเขาเป็นกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมากแค่ไหน แต่ยังบอกให้ทราบด้วยว่าพวกเขากังวลอะไรในเดือนธันวาคมที่กำลังจะมาถึง
ต่อให้คุณจะเป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องของการใส่หน้ากากมากแค่ไหน แต่หากได้เห็นตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเกิน 150,000 รายต่อวันไปแล้วก็ต้องมีความรู้สึกเป็นกังวลกันบ้าง ล่าสุดโอเรกอนพึ่งมีมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในขณะที่นิวยอร์กกำลังหารือกันว่าจะสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราวหรือไม่ ภาครัฐทราบดีอยู่แล้วว่ายิ่งออกมาตรการคมุเข้มมากเท่าไหร่ ยิ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่านั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะดำเนินแผนควบคุมโควิดช้าเหลือเกิน
ยิ่งยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ นักลงทุนก็จะยิ่งเป็นกังวลและจะใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างในการเทดอลลาร์สหรัฐและตลาดหุ้น ข้อมูลตัวเลขในสัปดาห์นี้เช่นรายงานตัวเลขยอดขายปลีก ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจากเอ็มไพร์ สเตตและตัวเลขผลสำรวจภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดเฟียต้องจับตาดูเป็นอย่างยิ่งเพราะจะมีผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างมาก ส่วนในยูโรไซนไม่มีรายงานตัวเลขสำคัญ เป็นไปได้ที่ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะยังปรับตัวสูงขึ้นอยู่เพราะมาตรการส่วนใหญ่เริ่มประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายนแต่ตัวเลขในภาคการผลิตอาจชะลอตัว อีกสองสัปดาห์นับจากนี้จะเป็นศึกการต่อสู้ระหว่างโควิด-19 กับสหรัฐฯ และยุโรปอย่างแท้จริง รัฐหรือเมืองทีไม่สามารถควบคุมโควิดได้จะต้องเจอกับยอดผู้ติดเชื้อที่มีมากจนออกมาล้นโรงพยาบาล สถานการณ์ตอนนี้หลังจากยุโรปล็อกดาวน์ไปสองสัปดาห์ต้องบอกเลยว่าผลลัพธ์ยังไม่น่าประทับใจ ยอดผู้ติดเชื้อยังสลับขึ้นๆ ลงๆ ส่วนภาพรวมของสหรัฐฯ ยิ่งเลวร้าย
ในสัปดาห์นี้เรามองว่าทิศทางของราคาในตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดและสกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนมูลค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเยน สวิตฟรังก์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ ส่วนสกุลเงินยูโรและปอนด์ต่างมีปัญหาโควิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมาดูว่าสถานการณ์ระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ใครจะแย่มากกว่ากัน ที่น่าแปลกใจก็คือนักลงทุนยังคงถือยูโรแม้ว่าเยอรมันจะพึ่งรายงานตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันสูงสุดตลอดกาล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมันเผยว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะเริ่มพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด ดังนั้นเหตุผลเดียวที่พอจะสรุปได้ว่าทำไมยูโรยังแข็งค่าอยู่เป็นเพราะนักลงทุนกลัวที่จะถือดอลลาร์มากกว่า
ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) เริ่มพูดถึงมาตรการที่จะดำเนินงานต่อไปเพื่อต่อสู้กับโควิดอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังตกเป็นที่พูดถึงของนักลงทุนในวงกว้างว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีกหรือไม่เมื่อได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ สูงขนาดนี้ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยออกมาย้ำแล้วว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับ 0.00% - 0.25% ไปอีกนานและเรามองว่าคงจะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉับพลันเร็วๆ นี้
ตัวเลขยอดขายปลีกและอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรอาจผันผวนและทำให้สกุลเงินปอนด์อ่อนค่า จากการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) รอบล่าสุดที่พวกเขายังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเลขคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะสามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ ล่าสุด BRC พึ่งรายงานว่าการจับจ่ายใช้สอยมีตัวเลขที่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเรากลับมองว่าตัวเลขยอดขายปลีกอาจลดลง ส่วนแคนาดาสัปดาห์นี้จะมีรายงานตัวเลขยอดขายปลีกและอัตราเงินเฟ้อด้วยเช่นกันซึ่งนักลงทุนคาดว่าตัวเลขจากแคนาดาจะออกมาดีกว่าของสหราชอาณาจักร สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์น่าจะทำผลงานได้ดีในสัปดาห์นี้จากปัจจัยที่ได้รายงานไปข้างต้น ออสเตรเลียจะมีรายงานตัวเลขในตลาดแรงงานและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่จะเผยให้เห็นข้อมูลการเติบโตในภาคการผลิตและบริการ