ถือเป็นข่าวดีที่วงการเภสัชกรรมกำลังพยายามทำสิ่งที่มีความหมายต่อมวลมนุษยชาติในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่าความพยายามนั้นจะยังไม่เร็วพอ หากมนุษย์โชคดี เราจะได้ยาที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) ภายในก่อนสิ้นปีนี้แต่สำหรับการแจกจ่ายนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรอไปถึงปี 2021 ในขณะที่โลกกำลังรอวัคซีนอย่างมีความหวัง เจ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังทำงานของมันต่อไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การแพร่ระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่าจะต้องกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่ ตลาดหุ้นถูกเทขายเป็นวันที่สองติดต่อกัน กราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีร่วงลง 8% สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐถูกเทขายเมื่อเทียบกับยูโร เยนและสวิตฟรังก์ สิ่งที่นักลงทุนกำลังกลัวที่สุดตอนนี้คือสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจตามยุโรปที่เข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ไปตั้งแต่ต้นเดือนนี้แล้วหรือไม่
เชื่อว่าเหลืออีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเราก็จะได้เห็นพาดหัวข่าวใหญ่ในสหรัฐฯ ว่า “ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นแตะ 200,000 คนแล้ว” แม้จะมีข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตยาโมเดิร์นนา (MRNA) กำลังจะประกาศข่าวดีในอีกไม่กี่วันนี้ ก็เป็นไปได้ว่าข่าวดีดังกล่าวจะดังสู้เสียงความกังวลของยอดผู้ติดเชื้อไม่ได้ การแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงในช่วงหน้าหนาวนี้จะทำให้สหรัฐฯ กลับมาเจอปัญหาเดิมในการระบาดรอบแรกคือโรงพยายาลไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดจนนำไปสู่การไม่สามารถควบคุมยอดผู้เสียชีวิต สำหรับผู้นำในแต่ละรัฐ พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องแลกสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้อีกสิ่งหนึ่งมาระหว่างจะยอมให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือจะควบคุมไวรัสด้วยมาตรการใหม่ ชิคาโกพึ่งประกาศใช้มาตรการอยู่บ้าน 30 วันและกำลังพยายามขอความร่วมมือให้ผู้คนอย่าไปรวมตัวกันในวันขอบคุณพระเจ้า ดีทรอยด์สั่งงดการเรียนการสอนในขณะที่นิวยอร์กสั่งให้ร้านอาหาร ผับบาร์และยิมงดให้บริการหลัง 22:00 นาฬิกาและจำกัดคนเข้าใช้บริการต่อรอบเพียง 10 คนเท่านั้น แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นภัยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่าสหรัฐฯ จะไปถึงจุดที่ต้องใช้มาตรการหักดิบ เข้มข้นและจริงจังมากกว่านี้
จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้เห็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคมไม่สามารถขึ้นถึงตัวเลข 0.1% อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงเมื่อคืนว่ารัฐบาลและธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมแล้ว นักลงทุนในตอนนี้ไม่ชอบการตัดสินใจล่าสุดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ที่นอกจากจะไม่พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองแล้วกำลังมีแผนจะออกคำสั่งห้ามชาวอเมริกันทำการซื้อขายหุ้นของบริษัทที่มาจากประเทศจีน การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจะทำให้กราฟ USD/JPY ปรับตัวลดลงและสกุลเงินหลักอื่นๆ ที่จับคู่กับดอลลาร์ด้วย
น่าประหลาดใจมากที่ได้เห็นสกุลเงินยูโรกลายเป็นผู้ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อคืนนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางข่าวร้ายเกี่ยวกับยอดผู้ติดเชื้อที่ทำให้รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมันออกมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้นำของเยอรมันประกาศว่าอาจต้องยืดระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึงธันวาคมและตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทุกร้านอาหาร ผับบาร์ สถานที่ให้บริการด้านความบันเทิงทั้งหมดถูกสั่งปิดเหลือแค่เพียงบริการซื้อกลับบ้าน สกุลเงินยูโรกลับยังสามารถยืนอยู่ในขาขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ได้โดยไม่ทรุด อย่างไรก็ตามหลังจากที่ผ่านการล็อกดาวน์มาหนึ่งสัปดาห์ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ในฝรั่งเศสมีรายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อตอนนี้สูงกว่าของเดือนเมษายนแล้ว มีคนเดินเข้ามาที่โรงพยาบาลเพื่อขอแอดมิดทุกๆ 30 วินาทีเพราะติดโควิด สถานการณ์เช่นนี้มีแต่จะทำให้สกุลเงินยูโรยิ่งแย่ลง
สกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดเมื่อวานนี้คือปอนด์เพราะสหราชอาณาจักรก็ทำมาตรการล็อกดาวน์ด้วยเช่นกัน และก็อีกเช่นเคยที่การเจรจา Brexit ยังไม่คืบหน้าไปไหนและตัวเลข GDP ในไตรมาสที่สามและตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมก็หดตัวตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดกาลแม้จะอยู่ในมาตรการล็อกดาวน์ โดยปกติแล้วกว่าการล็อกดาวน์จะเริ่มเห็นผลก็ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ สัปดาห์หน้าคงจะได้เห็นข่าวกันแล้วว่ารัฐบาลของนายบอริส จอห์นสันจะเดินเกมอย่างไรกับสถานการณ์นี้ต่อ ดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงหนักที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์นิวซีแลนด์และแคนาดาเพราะความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง