เมื่อพูดถึงข่าวดีที่ดังที่สุดประจำสัปดาห์นี้คงไม่มีข่าวไหนดีและดังไปมากกว่าข่าววัคซีนต้านไวรัสโควิดจากบริษัทไฟเซอร์ (NYSE:PFE) ที่ออกมาบอกว่าวัคซีนของพวกเขาได้ผลดีเกือบ 90% ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้แทบจะทุกตลาดลงทุนยกเว้นทองคำทะยานสูงขึ้นทันทีโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริษัทผู้ผลิตน้ำมันยกตัวอย่างเช่น ExxonMobil (NYSE:XOM) และ Chevron (NYSE:CVX) ที่ปรับตัวขึ้น $4.17 และ $12.14 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันกราฟที่ใช้วัดมาตรฐานราคาน้ำมันอย่าง WTI และเบรนท์ก็ขึ้นตามด้วยโดยขาขึ้นครั้งนี้เกือบชดเชยขาลงที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาได้เกือบทั้งหมด
การขานรับต่อข่าวดีทั่วทั้งตลาดวันนั้นนักลงทุนทำเหมือนกับว่าโควิดได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ความเป็นจริงภาพรวมระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันในไตรมาสที่สี่และช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 กลับไม่ได้สวยงามอย่างนั้น ในบทความนี้เราจะมาอัปเดตสถานการณ์ล่าสุดของทั้งฝั่งอุปสงค์ และอุปทานในตลาดน้ำมันดิบกันว่ายังมีปัจจัยอะไรที่น่าติดตามอยู่บ้าง
อุปสงค์
การเข้าสู่โหมดล็อกดาวน์ของประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่สองส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันเป็นอย่างมาก และตอนนี้รัฐสำคัญๆ ที่เป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็เริ่มที่จะดำเนินรอยตามแล้ว แมสซาชูเซตส์ นิวเจอร์ซีย์ และนิวยอร์กได้มีคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านในยามวิกาล และหากจำเป็นจะต้องมีการพบปะหรือเจอกันก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดควบคุม
ตอนนี้นักวิเคราะห์กำลังให้ความสนใจไปกับวันเทศกาลที่ใกล้จะมาถึงมากที่สุดอย่างวันขอบคุณพระเจ้าที่โดยปกติแล้วผู้คนจะมารวมตัวกันในทุกๆ บ้าน ด้วยมาตรการดังกล่าวปีนี้จะทำให้การเดินทางทั้งทางบกและอากาศลดลง ความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์เป็นกังวลคือผู้คนจะยอมปฏิบัติตามข้อบังคับนี้มากน้อยแค่ไหนเพราะผลที่ตามมาหลังวันขอบคุณพระเจ้าจะส่งผลต่อนโยบายควบคุมของภาครัฐในช่วงวันคริสต์มาสด้วย หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การควบคุม และล็อกดาวน์อาจจะต้องเข้มงวดเสียจนไม่สามารถเดินทางไปเพื่อท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดก่อนขึ้นปีใหม่ได้ นั่นจะทำให้คริสต์มาสปีนี้เป็นที่ที่แย่ที่สุดและทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ซึ่งปกติแล้วเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดหายไปอย่างน่าเศร้า
หลายองค์กร และสถาบันทางการเงินที่น่าเชื่อถือได้ออกมาหั่นตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันลงอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นองค์กรของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปก (OPEC) ก็ได้ปรับลดปริมาณความต้องการน้ำมันดิบในไตรมาสที่สี่ว่าจะลดลงมาเหลือ 960,000 บาร์เรลต่อวัน แม้จะมีนักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าตัวเลขนี้ซาอุดิอาระเบียตั้งใจทำออกมาให้ดูน่ากลัวเอาไว้ก่อนเพื่อที่ประเทศเพื่อนสมาชิกจะได้เห็นด้วยกับการปรับลดโควตาการผลิตน้ำมันในปีหน้า แต่สถาบันอื่นๆ ก็มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลงมาด้วยเช่นกัน
องค์กรข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของความต้องการน้ำมันดิบลงเหลือ 360,000 บาร์เรลต่อวันและปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ในสหรัฐฯ ลงเหลือ 300,000 บาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่สี่ปี 2020 นอกจากนี้รายงานจาก IEA ก็ระบุว่าการล็อกดาวน์ในยุโรปถือเป็นภัยคุกคามต่ออุปสงค์น้ำมันอย่างแท้จริง
อุปทาน
สถานการณ์ฝั่งอุปทานถือว่าน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน กลุ่มโอเปกพลัสมีความต้องการที่จะกลับไปเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในปีหน้า ในตอนนี้ต้องมาดูกันว่าการประชุมของกลุ่มในช่วงสิ้นเดือนนี้กับสถานการณ์โควิดในตอนนั้นจะทำให้ผลการประชุมออกมาเป็นเช่นไร แม้ซาอุดิอาระเบียจะอยากให้ลดกำลังการผลิตต่อ แต่สิ่งที่จะทำให้ซาอุดิอาระเบียพูดอะไรได้ไม่มากอาจเป็นการกลับมาของผู้ผลิตน้ำมันอย่างประเทศลิเบียที่เชื่อว่าพวกเขาพร้อมจะกลับมาผลิตน้ำมันประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลได้ภายในปีหน้า บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่งถึงกับประเมินเลยว่าลิเบียอาจไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของโอเปกจนกว่าพวกเขาจะได้โควตาการผลิตน้ำมันที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ข่าวดีที่พอจะมีอยู่บ้างก็คงจะเป็นจำนวนการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ลดลง ข้อมูลจาก API และ EIA ระบุว่าตอนนี้น้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สามารถลดลงได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ EIA ยังบอกว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีการผลิตน้ำมันออกมาอยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรลจากเดิมที่เคยทำสถิติสูงสุดเอาไว้ที่ 13 ล้านบาร์เรลในช่วงต้นปี 2020 นี่ถือเป็นตัวเลขที่เกินคาดของนักวิเคราะห์เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังสามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับนี้ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่สูงเกิน 100,000 รายต่อวัน
บริษัทผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ยังไม่มีการกลับมาเปิดใช้งานแท่นขุดเจาะน้ำมันมากเท่าไหร่ ตอนนี้จำนวนแท่นขุดเจาะที่เปิดใช้งานมีเพียง 226 แท่งซึ่งน้อยลงกว่าเดิมในช่วงเดือนมีนาคมที่ 683 แท่นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามตัวเลข 226 นี้คือตัวเลขแท่นขุดเจาะที่เปิดใช้งานล่าสุดที่เพิ่มขึ้นมาระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จำนวนแท่นขุดเจาะอาจจะไม่มีการเปิดใช้งานเพิ่มไปมากกว่านี้เพราะตราบใดที่ความต้องการน้ำมันยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างเต็มกำลัง การผลิตน้ำมันต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะถึงจุดที่ไม่คุ้มกับค่ามูลค่าเสื่อมของน้ำมันที่ผลิตมา ในส่วนของรายละเอียดตรงนี้แต่ละบริษัทจะมีการคำนวณที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับกำไรและค่าดำเนินงานของแต่ละบริษัท ดังนั้นหากนักลงทุนจะใช้ข้อมูลนี้เป็นตัวอ้างอิงในการลงทุนกับตลาดน้ำมัน ก็ต้องไปทำการบ้านเจาะลึกข้อมูลดังกล่าวของแต่ละบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย
โดยสรุปแล้ว
พฤติกรรมราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการฝากความหวังที่มีไว้กับวัคซีนต้านโควิดว่ามีมากน้อยเพียงใด ถึงกระนั้นนักลงทุนก็ต้องไม่ลืมที่จะยืนอยู่บนโลกความเป็นจริง ณ ปัจจุบันขณะที่เรายังต้องเผชิญกับปัญหาอุปสงค์อุปทานที่เกิดจากตัวแปรอย่างเช่น ความเป็นไปได้ในการล็อกดาวน์ช่วงไตรมาสที่สี่ของสหรัฐฯ และการเพิ่มมาตรการคุมเข้มในยุโรป นโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์หลังการเลือกตั้ง ความเร็วในการผลิตวัคซีนและความเป็นไปได้ที่เร็วที่สุดในการจำหน่ายวัคซีนดังกล่าวออกสู่สาธารณะชน
นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยข้างเคียงอื่นๆ อีกเช่น วัคซีนที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการหรือวัคซีนที่ได้กลับไม่สามารถต้านทานโรคได้อย่างที่บอกสรรพคุณเอาไว้? จากความเป็นไปได้เหล่านี้จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่พร้อมทำให้ราคาน้ำมันผันผวนได้เสมอ