ไม่ถือว่าเป็นความลับแต่อย่างใดหากจะบอกว่าตลาดสกุลเงินบางทีก็วิ่งตามแนวโน้มในตลาดหุ้น หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดทำการเมื่อวานนี้ก็พากราฟ EUR/USD และ AUD/USD ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยและในช่วงที่ขาขึ้นในตลาดหุ้นเริ่มกลับลำ แรงขาขึ้นในคู่สกุลเงินทั้งสองก็หมดลงเช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วเดือนตุลาคมถือเป็นหนึ่งในเดือนที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากที่สุด มีตัวเลขประเมินออกมาเลยว่าเดือนตุลาคมจะมีการสวิงของราคาเพิ่มขึ้นกว่าปกติประมาณ 1% ยกตัวอย่างเช่นดัชนีดาวโจนส์จะมีกรอบการวิ่งของราคาเพิ่มขึ้น 275 จุด ยิ่งต้นเดือนหน้ามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นและสกุลเงินยิ่งผันผวนหนัก ภายในเวลา 32 วันก่อนการเลือกตั้งยังมีอีกหลายเรื่องให้นักลงทุนได้จับตามองไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สอง คนที่จะมาเป็นผู้นำศาลสูงสุดคนใหม่ของทรัมป์และความเป็นไปได้ของการแพร่ระบาดรอบที่สองเมื่อโรงเรียนทั่วประเทศกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง
และวันที่นักลงทุนต่างรอคอยเฝ้าดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) กันเป็นประจำในทุกๆ ศุกร์แรกของเดือนก็ได้เดินทางมาถึง นี่คือการรายงานตัวเลข NFP ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งและอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางการวิ่งในตลาดหุ้นตลอดทั้งเดือนตุลาคม ในขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการครั้งแรกลดลงแต่รายงานการเลิกจากงานจาก Challenger ก็ระบุว่ามีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น ก่อนหน้านี้วันพุธตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP พึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับรายงานจากซีบี โดยภาพรวมแล้วหลายๆ ตัวเลขที่พากันออกมาค่อนข้างเชื่อตรงกันว่าตัวเลขการจ้างงานในวันนี้จะเพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หวังให้ตัวเลขนอนฟาร์มวันนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 850,000 ตำแหน่ง ลดความคาดหวังลงจากเดือนที่แล้ว 1.371 ล้านตำแหน่งซึ่งความหมายความว่าพวกเขาเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับฝั่งข่าวดีมากกว่า นอกจากนี้อัตราการว่างงานก็ถูกตั้งความหวังให้ลดลงแต่ตัวเลขการค่าจ้างโดยเฉลี่ยรายชั่วโมงคาดว่าจะชะลอตัว
สิ่งที่น่าจะทำให้นักลงทุนหลอนมากกว่าสำหรับการลงทุนเดือนนี้อาจจะไม่ใช่ข่าวจากสหรัฐอเมริกาแต่เป็นข่าวที่มาจากทวีปยุโรป เมื่อวานนี้ได้มีความคืบหน้าเกิดขึ้นกับ Brexit แล้วแต่โชคไม่ดีที่ความคืบหน้านั้นเป็นไปในทางลบจนทำให้สกุลเงินปอนด์หักหัวตกลงมาได้อย่างน่าตกใจ ล่าสุดสหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการทางกฎหมายแล้ว โดยขั้นแรกเป็นการส่งจดหมายเตือนอย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลสหราชอาณาจักร และถ้าหากหนึ่งเดือนนับจากนี้ สหราชอาณาจักรยังไม่แก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการการดำเนินธุรกิจระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (Internal Market Bill) หรือยืนยันที่จะไม่แก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้สหราชอาณาจักรถูกฟ้องว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
คำขู่นี้ส่งผลให้เกิดความคืบหน้าอย่างทันทีทันใด ภายในวันเดียวกันสหราชอาณาจักรก็ได้ออกมาบอกว่าจะขอประนีประนอมกับสหภาพยุโรปอีก ข่าวนี้ทำให้ปอนด์ดีดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดแต่ภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสหภาพยุโรปก็ออกมาปฏิเสธการขอประนีประนอมนั้นทันที โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเรื่อง Brexit ได้ยังคง 50/50 แต่ผู้ที่พ่ายแพ้ที่สุดจากเรื่องนี้คือสกุลเงินปอนด์ การทะเลาะกันแบบนี้ยิ่งทำให้ความผันผวนและความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนทั้งหมดที่เราได้เห็นในสกุลเงินปอนด์เมื่อวานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อปอนด์สเตอร์ลิง
ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นและกลายเป็นขาขึ้นสี่วันติดต่อกัน ยูโรก็ปรับตัวขึ้นแต่ไม่มากเท่าสกุลเงินทั้งสอง แม้ข้อมูลตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของออสเตรเลียในเดือนกันยายนจะออกมาลดลงแต่นักลงทุนก็ไม่ได้สนใจแต่หันไปหวังกับข้อมูลตัวเลขที่แสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมมากกว่าเพราะล่าสุดสัปดาห์นี้ออสเตรเลียพึ่งคลายมาตรการคุ้มเข้มโควิดในเมืองเมลเบิร์นลงแล้ว ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมันแม้จะลดลงแต่ภาพรวมแล้วของยูโรโซนดีขึ้นเพราะได้ตัวเลขจากฝรั่งเศสมาช่วยอุ้มเอาไว้ ดอลลาร์แคนาดาถูกเทขายตามราคาน้ำมันดิบ ที่ลดลงแม้ว่าตัวเลขจำนวนการขออนุญาตก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นก็ตาม