หลังจากการประกาศนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) เมื่อวานนี้ส่งผลให้กราฟยูโรเทียบดอลลาร์สามารถขึ้นไปยืนเหนือระดับราคา 1.19 ได้ชั่วคราว คำแถลงของ ECB ดูมั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่ถึงกระนั้นกราฟกลับไม่สามารถทรงตัวยืนเหนือ 1.19 ได้และปรับตัวลดลงมาเนื่องจากยังมีปัจจัยความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์ Brexit อยู่และตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ในช่วงเปิดตลาดสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้ ท่าทีของประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปนางคริสตีน ลาการ์ดดูแล้วมีความนิ่งมากกว่านักลงทุนเสียอีก อย่างไรก็ตามประธาน ECB ก็ได้แสดงความเป็นกังวลเล็กน้อยว่าอย่าพึ่งดีใจกับขาขึ้นของยูโรมากนักเพราะ ECB ยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนใดๆ เนื่องจากต้องการดูผลกระทบของเงินเฟ้ออยู่
นอกจากนี้ ECB ยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2020 2021 และ 2022 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021 ด้วย ก่อนหน้านี้นักลงทุนมีความกังวลว่า ECB จะตัดสินใจปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเพราะรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลงไปอยู่ ณ จุดต่ำสุดของเดือนกันยายนแต่การเพิ่มตัวเลขคาดการณ์แสดงให้เห็นว่า ECB ยังมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ อันที่จริงแล้วเมื่อวานนี้คริสตีนได้กล่าวว่า “กิจกรรมในภาคการผลิตและความต้องการบริโภคภายในประเทศสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างมีนัยสำคัญแต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในอนาคตนั้นไม่มีความชัดเจนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นสิ่งจำเป็น”
สรุปสั้นๆ ก็คือว่าการประชุมของ ECB เมื่อวานนี้ทางแบงก์ชาติมีความกังวลในภาพรวมเศรษฐกิจน้อยกว่านักลงทุน แต่ในฐานะที่เราเป็นนักลงทุนก็ไม่แปลกหากจะตั้งคำถามกับตัวเองและ ECB ว่าจะไม่ให้กังวลได้อย่างไรในเมื่อสิ่งที่เราเห็นอยู่คือความเสี่ยงที่ Brexit อาจออกมาแย่ลงและตัวกราฟเองก็ไม่สามารถยืนอยู่ในขาขึ้นได้อย่างมั่นใจเหมือนแต่ก่อน? เรื่องคำตอบนั้นนักลงทุนแต่ละคนน่าจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วแต่สำหรับเราตอนนี้คาดว่ากราฟยูโรน่าจะทำผลงานขาขึ้นได้ดีกว่าปอนด์ เยนแต่อาจจะปรับตัวขึ้นยากสักนิดหนึ่งเมื่อเทียบกับดอลลาร์
พูดถึงสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิงตอนนี้กราฟเป็นคนละเรื่องกับยูโรเลยเพราะหากดูกราฟจะเห็นว่าปอนด์ถูกเทขายอย่างรุนแรงมาก ในช่วง 7 วันล่าสุดกราฟ GBP/USD ร่วงลงแล้วเกือบ 600 จุดในขณะที่กราฟ EUR/GBP ปรับตัวขึ้นมากกว่า 300 จุด เหมือนกับว่าตอนนี้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันมีแนวโน้มจะหันไปทางการออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่ทำสนธิสัญญาใดๆ มากขึ้น สหราชอาณาจักรไม่ยอมที่จะยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการค้าภายในประเทศ (Internal Market Bill) ซึ่งสามารถอนุญาตให้รัฐบาลอังกฤษมีอำนาจปฏิบัติบางประเด็นแย้งกับข้อตกลง Brexit ที่เคยลงนามไว้ตอนต้นปี 2020 โดยสหภาพยุโรปยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดกับข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย EU ให้เวลาบอริสถึงสิ้นเดือนกันยายนเพื่อจัดการกับกฎหมายฉบับนี้
ทางสหรัฐอเมริกาที่จับตาดูสถานการณ์ระหว่าง UK-EU อยู่ได้มีแถลงออกมาจากนางแนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาคอนเกรสสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนการค้ากับสหราชอาณาจักรหากว่า UK ละเมิดข้อกำหนดกับ EU สำหรับสหราชอาณาจักรตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างดูยุ่งเหยิงไปหมด นี่ยังไม่นับเรื่องการพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ภายในประเทศอีกยิ่งทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรฟื้นตัวได้ยากขึ้น เชื่อว่าปอนด์จะถูกเทขายมากยิ่งกว่านี้ในอนาคตอันใกล้และถึงแม้วันนี้รายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและรายงานดุลการค้าจะออกมาดีก็ไม่น่าจะดึงความสนใจของนักลงทุนไปจากสถานการณ์ Brexit ได้
ทิศทางของดอลลาร์สหรัฐยังคงไม่ชัดเจนแม้ว่ารายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์และรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะออกมาต่ำกว่า 900,000 คน เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและออสเตรเลียดอลลาร์แล้วกราฟยังดูทรงๆ ในขณะที่เทียบกับสวิตฟรังก์แล้วถูกเทขายแต่กลับแข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับปอนด์ นิวซีแลนด์ดอลลาร์และแคนาดาดอลลาร์แถลงการณ์ล่าสุดของธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ไม่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับแคนาดาดอลลาร์เท่าไหร่ ผู้ว่าการ BoC นาย ทิฟฟ์ แมคเล็มไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในขณะที่ตลาดหวังว่าจะได้เห็น BoC เดินตามแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ เขากล่าวว่าลำพังการทำ QE ก็จะทำให้อัตราดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในตัวอยู่แล้ว ส่วนกราฟนิวซีแลนด์ดอลลาร์ไม่ได้มีการขยับอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตถูกประกาศออกมาในช่วงเช้าของวันนี้