แม้ว่าเดือนสิงหาคมที่พึ่งผ่านไปจะเป็นเดือนที่ดีมากๆ สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นแต่กับดอลลาร์สหรัฐแล้วสิงหาคมคือเดือนแห่งการยืนยันว่าการอ่อนมูลค่าของสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกนับจากนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเฟดตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายอัตราเงินเฟ้อเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนมูลค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ยกเว้นแต่สกุลเงินเยน กราฟ USD/JPY ปรับตัวลดลงไปอยู่ต่ำกว่า 106 อีกครั้งเช่นเดียวกับกราฟผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะที่นักลงทุนในตลาดหุ้นพากันปิดคำสั่งซื้อขายเพื่อทำกำไร
ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นมีความผันผวนเนื่องจากการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายจินโซะ อาเบะ ตัวเลขยอดขายปลีกของญี่ปุ่นลดลงมากกว่าที่คาดการณ์เช่นเดียวกันกับตัวเลขในภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ ยอดการอนุญาตก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยเริ่มเริ่มสร้างและรวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย นี่คือสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่ถึงตัวเลขของญี่ปุ่นจะดูแย่แต่กราฟ USD/JPY ก็ยังมีราคาปิดลดลงเพราะนักลงทุนเป็นกังวลว่าข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะออกในสัปดาห์นี้จะมีตัวเลขลดลงไม่ว่าจะเป็นตัวเลขนอนฟาร์มที่จะประกาศในวันศุกร์และดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ที่จะประกาศในวันนี้ นอกจากตัวเลขทั้งสองเรายังเชื่อว่าข้อมูลตัวเลขผลสำรวจจากธนาคารกลางฟิลาเดเฟียและเอ็มไพร์ สเตตจะชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจทั่วทั้งประเทศกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว
สกุลเงินที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเมื่อคืนนี้คือแคนาดาดอลลาร์ที่สามารถพาตัวเองขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 7 เดือนได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แม้ตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างของแคนาดาจะลดลงมากกว่าที่คาดแต่เพราะสถานการณ์โควิดที่สามารถควบคุมได้จึงทำให้ภาพรวมแล้วประเทศแคนาดาดูมีอนาคตกว่าประเทศอื่นๆ สัปดาห์นี้แคนาดาก็จะมีประกาศตัวเลขการจ้างงานเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ถึงนักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขการจ้างงานของเดือนสิงหาคมจะลดลงแต่ความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ จะช่วยชดเชยการจ้างงานที่ยังชะลอตัวได้
กราฟ EUR/USD สามารถขึ้นยืนเหนือ 1.1950 ได้และกำลังอยู่ในเส้นทางขึ้นสู่ 1.20 ขนาดว่าสเปนและฝรั่งเศสเริ่มกลับมามีปัญหาเรื่องโควิด-19 อีกครั้งและข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของเยอรมันลดลง หมายความว่าการอ่อนมูลค่าของดอลลาร์ยังแย่กว่าปัญหาเหล่านี้เสียอีก วันนี้ฝั่งยูโรโซนมีข่าวให้ต้องจับตาดูเยอะไม่ว่าจะเป็นอัตราการจ้างงานของเยอรมัน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน หากตัวเลขในภาคแรงงานของยูโรโซนออกมาลดลงอาจทำให้ขาขึ้นสู่ 1.20 ของ EUR/USD ต้องชะลอตัว
ปิดท้ายด้วยสกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ที่มีข่าวที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะนอกจากการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 การรายงานตัวเลขยอดขายปลีก ตัวเลข PMI และดุลบัญชีการค้าแล้วสิ่งที่ตลาดจะให้ความสนใจมากที่สุดในวันนี้คือการประกาศนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ซึ่งก็ไม่ผิดโผไปจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เพราะตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ออกมานั้นคงที่อยู่ที่ 0.25% เท่าเดิม แต่เพราะการล็อกดาวน์วิคตอเรียจะทำให้ RBA แสดงความเป็นกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
การประชุมของ RBA เมื่อเดือนสิงหาคมพวกเขาตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เหมือนเดิม แม้จะคาดการณ์ในตอนนั้นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่ราบรื่นนักแต่ RBA จะไม่ซื้อบอนด์เพิ่มอีก นับตั้งแต่นั้นตัวเลขความเชื่อมั่นในผู้บริโภคและภาคธุรกิจก็ลดลงต่อเนื่องเพราะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังไม่ฟื้น แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการและก่อสร้างจะดีขึ้นแต่ตัวเลขทั้งสองไม่ใช่ข้อมูลที่เพียงพอต่อการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ได้ ขนาดนายกรัฐมนตรีของประเทศนายมอร์ริสันยังบอกว่าการล็อกดาวน์ในวิคตอเรียอาจทำให้ GDP หายไป 2.5%
อย่างน้อยที่สุดตอนนี้ RBA ควรจะยอมรับได้แล้วว่าออสเตรเลียได้เข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้วในไตรมาสที่ 2 นอกจากเรื่องการปิดเมืองแล้วยังมีความกดดันจากปัญหาทางการค้ากับจีนอีก ยิ่งทำให้โดยรวมแล้วเราไม่เห็นภาพเลยว่า RBA จะประเมินเศรษฐกิจของประเทศออกมาเป็นบวกได้อย่างไร ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกหลังจากมีข่าวว่าจีนจะทำการตรวจสอบไวน์จากออสเตรเลียรอบที่ 2 และยังควบคุมตัวนักข่าวชื่อดังของออสเตรเลียเอาไว้