กองทุนสำรองระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 ของสหรัฐฯ หดตัวลดลงไป -8.0% ส่วนเศรษฐกิจของแคนาดาจะหดตัวมากยิ่งกว่าสหรัฐฯ ถึง -8.4% ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังรอต้อนรับทั้งสองประเทศแต่ในแง่ของสกุลเงินกลับพบว่าแคนาดาดอลลาร์มีภาษีที่ดีกว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯอยู่พอสมควรเพราะปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจแคนาดาอย่างหนึ่งเลยคือราคาน้ำมัน
อันที่จริงแล้วสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศแคนาดาก็ถือว่ายังไม่ได้ลงไปอยู่ในระดับหลัก 10 เหมือนประเทศทางแถบเอเชียเพราะล่าสุดเมื่อวันจันทร์มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 288 รายทั้งๆ ที่ภาครัฐก็พยายามกดกราฟยอดผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว แต่เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ตอนนี้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอันดับ 1 ของโลกแล้วถือว่าแคนาดาทำได้ดีมากทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกัน ใครจะรู้ว่าพาดหัวข่าวต่อไปที่เราจะได้อ่านอาจเป็น “ผลสำรวจ 81% เผยชาวแคนาดายินดีให้ชายแดนแคนาดา-สหรัฐฯ ยังคงปิดต่อไป”
ในขณะที่การดูแลปัญหาโควิด-19 ของแคนาดาสามารถทำได้อย่างประสิทธิภาพแต่หันไปดูทางอเมริกาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศทำตัวเหมือนเด็กที่ต้องคอยให้ผู้ปกครองอย่างด็อกเตอร์แอนโทนี่ เฟาซี่ออกมาพูดย้ำเตือนอยู่ทุกวัน ล่าสุดคุณหมอพึ่งออกมาพูดว่า “ยอดผู้ติดเชื้อไม่เคยลดลงไปถึงจุดที่เราหวังจะให้เป็นเลย” ตอนนี้ตัวเลขอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดในสหรัฐฯ มีตัวเลขอยู่ที่ 130,000 รายแล้วและมาตรการล็อกดาวน์ที่กำลังกลับมาคุมเข้มมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนสกุลเงินแคนาดาดอลลาร์คือราคาน้ำมันดิบที่ตอนนี้สามารถยืนเหนือระดับราคา $40 ต่อบาร์เรลสร้างจุดสูงสุดในรอบ 4 เดือนได้ ในฐานะที่แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากที่สุดทำให้แคนาดาดอลลาร์ได้เปรียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในจุดนี้ นี่คือสองปัจจัยพื้นฐานหลักที่หนุนสกุลเงินแคนาดาดอลลาร์และเป็นเหตุผลที่ทำให้กราฟ USD/CAD มีโอกาสร่วงลงไปอีก 5% อีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
กราฟ USD/CAD สร้างรูปแบบธงขาขึ้นเสร็จก่อนหน้าที่จะทะลุกรอบออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นี่คือรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงการไปต่อ เพราะอะไร? ลองคิดดูว่าสามเหลี่ยมลู่ขึ้นปกติแล้วควรจะหนุนราคาให้ปรับตัวกลับขึ้นไปแต่การที่ราคาจริงหลุดกรอบลงมาเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าราคายังคงต้องการไปต่อในแนวโน้มขาลงเดิม ถือว่ากรอบช่องราคาขาลงใหญ่ยังสามารถทำหน้าที่คุมแนวโน้มขาลงได้ป็นอย่างดีอยู่
นอกจากนี้เรายังสังเกตเห็นว่าที่บริเวณจุดต่ำสุดของรูปแบบธงลู่ขึ้นคือจุดแนวรับสำคัญที่เทรนด์ไลน์ทั้งสามเส้นมาบรรจบกัน เส้นที่ 1 (สีชมพู) คือเส้นเทรนด์ไลน์ที่ลากมาตั้งแต่เดือนธันวาคมซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นแนวต้านแต่ปัจจุบันเป็นแนวรับ เส้นที่ 2 (สีแดง) คือเส้นแนวนอน 90 องศาซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวต้านของราคาในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2019 มาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2020 และเส้นที่ 3 เส้นสุดท้าย (สีน้ำเงิน) คือเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นระยะยาวที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนกันยายนปี 2017 และยังมีผลกับราคาในปัจจุบัน
ขาลงในครั้งนี้จะต้องสามารถแสดงความรุนแรงและความตั้งใจในการปรับตัวลงต่อด้วยการทะลุแนวรับทั้ง 3 เส้นที่สำคัญนี้ไปให้ได้ แต่ก่อนหน้าที่จะไปถึงตรงนั้น (ซึ่งเป็นขาลงในระยะยาว) เรามั่นใจว่าจะมีนักลงทุนฝั่งขายระยะสั้นหรือนักเก็งกำไรจะขอตัวปิดคำสั่งซื้อขายออกไปจากตลาดก่อนเมื่อราคาลงมาถึงบริเวณดังกล่าว นักลงทุนที่เชื่อในขาขึ้นจะได้โอกาสเข้ามาถือราคาที่บริเวณนี้ ส่วนระยะยาวเรามองว่าต้องรอดูราคาหลังจากดีดกลับขึ้นมาอีกทีว่าเป็นขาขึ้นที่มีนัยสำคัญมากแค่ไหน ราคาน้ำมันในตอนนั้นเป็นอย่างไร สถานการณ์โควิดในสหรัฐฯ ตอนนั้นเป็นเช่นไรและที่สำคัญที่สุดคือสถานการณ์ของสกุลเงินดอลลาร์ในตอนนั้นจะเป็นเช่นไร
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะรอจนกว่าราคาจะลงต่ำกว่า 1.3300 หรือเรียกสั้นๆ ก็คือต้องหลุดแนวรับทั้งสามลงไปให้ได้ก่อน
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจจะตัดสินใจเข้าที่บริเวณต่ำกว่า 1.3484 หรือจุดต่ำสุดของวันที่ 23 มิถุนายน
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง จะตัดสินใจวางคำสั่งขายทันทีโดยมี Stop-loss ที่ชัดเจนและรู้ดีว่าอัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทนของออเดอร์ตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างการเทรด (สำหรับขาลง)
- จุดเข้า: 1.36
- Stop-Loss: 1.3650 (กรอบราคาด้านบน)
- ความเสี่ยง: 50 จุด
- เป้าหมายในการทำกำไร:1.3350 (เหนือจุดต่ำสุดของวันที่ 10 มิถุนายน)
- ผลตอบแทน: 250 จุด
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:5