ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นต่อ S&P 500 บวก 0.5% ด้วยความคาดหวังจากการทดลองยาต้านไวรัสของหลายบริษัท ขณะที่ฝั่งยุโรป Stoxx Europe 600 ก็ปรับตัวขึ้นตาม 0.2% ด้วยมุมมองตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เห็นได้จากบอนด์ยีลด์เยอรมันอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นถึง 6bps มาที่ระดับ -0.40% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้นเพียง 2bps มาที่ระดับ 0.68%
ฝั่งตัวเลขเศรษฐกิจ การจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment Change) ในสหรัฐก็ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยในเดือนที่ผ่านมามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านตำแหน่ง ขณะที่เดือนที่ผ่านมา ก็มีการปรับจำนวนการจ้างงานสูงขึ้นจาก “เลิกจ้าง” 2.7 ล้านตำแหน่ง กลายมาเป็นจ้างงานใหม่ 3 ล้านตำแหน่ง
และแม้แรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการ แต่มุมมองเชิงบวกก็สะท้อนผ่านภาคอุตสาหกรรม โดยตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing) สามารถฟื้นตัวขึ้นมาเป็น “ขยายตัว” ที่ระดับ 52.6จุด จาก 43.1จุดในเดือนก่อน จากแรงหนุนของการสั่งสินค้าใหม่และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังช่วงวิกฤตโควิด-19
ส่วนเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าต่อเนื่องอีก 0.2% ในคืนที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่นักค้าเงินก็คาดหวังว่ารายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะมีการประกาศในวันนี้จะมีการระบุถึงการใช้นโยบายควบคุมยีลด์ (Yield Curve Control) ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้ต่ออีกด้วย
แต่เงินบาทช่วงสั้นกลับอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินเอเชียและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ด้วยความกังวลกับทิศทางของนโยบายการเงินในประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลงไป “ควบคุม” การทำธุรกรรมมากขึ้น ขณะที่สภาพคล่องของตลาดเงินบาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งนอกประเทศ (Offshore) อยู่ในภาวะตึงตัวอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องที่ต่ำอย่างมาก จึงทำให้นักค้าเงินต่างประเทศจำเป็นต้องลดสถานะการซื้อเงินบาทลง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นลบกับเงินบาทไปจนกว่าปัญหาสภาพคล่องจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนในวันนี้ คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหว ในกรอบแคบลงเนื่องจากมีการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐรออยู่ในช่วงค่ำ ซึ่งตลาดคาดว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Change in Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านตำแหน่ง และอัตราการว่างานจะปรับตัวลดลงเหลือเพียง 12.5% เป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยง