- S&P 500 วิ่งอยู่เหนือจุดต่ำสุดของเดือนมิถุนายน
- กราฟพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสลงไปยังจุดต่ำสุด 0.65
- ทองคำยังมีโอกาสขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันในขณะที่บิทคอยน์มีโอกาสปรับตัวลง 6 วันติดต่อกัน
- ราคาน้ำมันยังไม่อาจขึ้นมาสูงกว่า $40 ได้
จากข้อมูลตัวเลขของสถาบันที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐฯ สร้างความกังวลวิตกให้กับตลาดมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ดัชนีหลักทั้ง 4 ของสหรัฐฯ ได้แก่ S&P 500, ดาวโจนส์, NASDAQ และ Russell 2000 ต่างกอดคอกันลงมากกว่า 2 % เมื่อวันศุกร์ คาดว่าผลกระทบนั้นจะส่งต่อมายังสัปดาห์นี้และจะยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้น
แม้แต่ในวันเสาร์ข้อมูลตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อของสหรัฐฯ ก็ยังไม่คงที่ จากรายงานพบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 44,782 รายและเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันที่สหรัฐฯ ได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อแตะ 40,000 คน หลายๆ รัฐที่ถูกพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญได้ประกาศหยุดแผนการเปิดเมืองและงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงลงทั้งหมด ถึงกระนั้นสกุลเงินดอลลาร์ก็ยังถูกยอมรับในฐานะสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์สำรองปลอดภัยอยูดี
โรคระบาด, ข่าวเฟสบุ๊กและแถลงการณ์จากประธานแบงก์ชาติคือปัจจัยกดดันดัชนีหลักๆ
หลังจากที่ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แพร่ออกไปสู่สาธารณชนผู้ว่าการรัฐทั้งสองอย่างเท็กซัสและฟอร์ริด้าที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นแห่ลงแพร่ระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่ได้ประกาศนโยบายใหม่ทันทีนั่นคือการเปิดกิจการ ร้านอาหาร ผับบาร์ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อทั้งหมดต้องถูกปิดอีกครั้ง ชายหาดของไมอามี่ซึ่งเป็นสถานที่พักร้อนยอดนิยมในช่วงฤดูร้อนต้องถูกปิดยาวไปจนถึงวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคมหรือตรงกับวันหยุดของอเมริกาพอดี
คำถามที่ทุกคนกำลังเฝ้ารออยากได้คำตอบตอนนี้คือ “แล้วรัฐอื่นๆ จะต้องดำเนินรอยตามรัฐทางตอนใต้ที่กำลังเป็นข่าวด้วยหรือไม่?” ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือแม้ผู้ว่าการทั้งสองรัฐจะมาจากพรรคริพับลิกันเดียวกันกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แต่พวกเขาก็เลือกที่จะเมินเฉยต่อมาตรการดูแลสุขภาพที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศออกมาก่อนหน้านี้เพื่อลดความเป็นไปได้ในการแพร่ระบาดลงซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเท่านั้นแล้ว
ดัชนี S&P 500 ร่วงลงทันที 2.4% หลังทราบข่าวว่าแผนการเปิดเมืองต้องถูกเลื่อนออกไป การลงไปครั้งนี้ของ S&P 500 เป็นการลงไปยังจุดต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครึ่ง หากว่า S&P 500 ร่วงลงอีกเพียง 0.24% จะเป็นการวิ่งกลับลงไปสู่จุดต่ำสุดของเดือนมิถุนายน
จากการวิเคราะห์กราฟ S&P 500 ทางเทคนิคพบว่าตัวดัชนีมีการแสดงสัญญาณอ่อนแรงออกมาจริง S&P 500 ไม่สามารถพาตัวเองให้กลับขึ้นไปยืนเหนือเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นที่ทะลุลงมาและสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ ตอนนี้กราฟมีความเป็นไปได้ว่ากำลังจะสร้างรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder) ซึ่งอินดิเคเตอร์อย่าง MACD และ RSI ต่างชี้ไปในทิศทางขาลงแล้ว
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเพราะบริษัทเฟสบุ๊ก (NASDAQ:FB) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการโซเชียลมีเดียถูกบริษัทใหญ่ๆ พากันคว่ำบาตรเรื่องการโฆษณาโดยให้เหตุผลว่าบนแพลตฟอร์มมีข้อความที่แสดงถึงความเกลียดชัด ไม่สร้างสรรค์เยอะเกินไปและเฟสบุ๊กไม่มีมาตรการที่ดีพอในการจัดการกับปัญหานี้
สุดท้ายหุ้นของบริษัทกลุ่มธนาคารใหญ่ๆ พากันลดลงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาโควิดและได้มีมาตรการทางการเงินใหม่ด้วยการเข้ามาควบคุมเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์และกำหนดให้ทุกธนาคารห้ามจ่ายเงินปันผลเกินระดับที่เคยจ่ายไปในไตรมาสที่ 2 และงดการซื้อหุ้นคืนเพื่อสำรองเงินในช่วงโควิดระบาด
ถึงตัวเลขยอดการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.2% แต่เพราะดัชนีหลักๆ ต่างพากันปรับตัวลดลงหมด ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าในสัปดาห์นี้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกจะส่งผลต่อการใช้เงินเยียวยาที่ทางรัฐแจกให้เพื่อไปใช้จ่ายหรือไม่ ในสัปดาห์นี้เราจะได้เห็นกันแล้วว่าความเชื่อของนักลงทุนที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจะยังเชื่อมั่นอย่างนั้นอยู่อีกหรือไม่
กราฟพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวกลับลงมาต่ำกว่า 0.700 อีกครั้ง วิ่งอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันในกราฟรายวัน
นอกจากนี้กราฟพันธบัตรฯ อายุ 10 ปียังมีเส้นค่าเฉลี่ย 100 DMA เป็นแนวต้านหลักอีก 1 เส้นและยังมีเส้น 200 DMA เป็นแนวต้านสุดท้ายที่อยู่ไกลจนไม่สามารถอาจเอื้อมได้ในเร็ววันนี้ ส่วนแนวรับถัดไปที่กำลังจะได้รับการทดสอบคือแนวรับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน
กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่สามารถยืนเหนือจุดสูงสุดล่าสุดของตัวเองได้
ขาขึ้นของแท่งเทียนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทำผลงานได้เพียง 0.2% เท่านั้นหลังจากพยายามมาตลอดในวันพุธและพฤหัสบดี ขาขึ้นในวันศุกร์เจอเข้ากับแนวต้านที่เกิดจากรูปแบบธงลู่ขึ้น แม้จะเป็นแนวต้านเล็กๆ แต่ก็สามารถวัดความต้องการถือครองของสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์สำรองได้ว่านักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นในดอลลาร์มากพอ แต่ที่ต้องถือเพราะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก
อย่างไรก็ตามก็ต้องจับตาดูว่าสัปดาห์นี้ดัชนีดอลลาร์จะสามารถขึ้นตามอินดิเคเตอร์อย่าง MACD หรือ RSI ที่เริ่มส่งสัญญาณขาขึ้นออกมาแล้วได้หรือไม่
สัปดาห์ที่แล้วราคาทองคำปรับตัวขึ้น 1.5% และถือเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันที่ทองคำสามารถรักษาแนวโน้มขาขึ้นเอาไว้ได้
ก่อนหน้านี้ไม่นานราคาทองคำสามารถหลุดกรอบธงลู่ลงออกมาได้และยังสามารถพาตัวเองขึ้นยืนเหนือกรอบสามเหลี่ยมใหญ่ได้อีก การที่แท่งเทียนล่าสุดแสดงรูปแบบค้อนออกมาออกมาตรงบริเวณด้านบนของสามเหลี่ยมเป็นไปได้ว่านี่คือสัญญาณบอกว่าราคาทองคำพร้อมแล้วกับขาขึ้นครั้งใหม่
ในขณะที่สินทรัพย์สำรองอย่างทองคำกำลังตั้งท่าจะทะยานขึ้น สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์สำรองเช่นกันกลับปรับตัวลงเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันซึ่งล่าสุดยังมีราคาปิดต่ำกว่าเส้น neckline ของรูปแบบหัวไหล่อีกด้วย
สุดท้ายราคาน้ำมันดิบยังคงวิ่งอยู่ต่ำกว่าระดับราคา $40
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอีก 0.6% คิดเป็นการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้ว 3.2% แม้รัสเซียจะลดตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบของตัวเองลดลงต่ำที่สุดในรอบทศวรรษแล้วก็ตาม ในภาพการวิเคราะห์ทางเทคนิคอินดิเคเตอร์ MACD และ RSI อยู่ในขาลงและเป็นไดเวอร์เจนต์กับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ลงมาจากแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 200 DMA ด้วย
ข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันอาทิตย์
19:50 (ญี่ปุ่น) ตัวเลขยอดขายปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -13.9% ครั้งก่อนเป็น -11.6%
วันจันทร์
10:00 (สหรัฐฯ) ยอดขายที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างรอการจำนอง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -21.8% เป็น 19.7%
21:00 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 50.6 เป็น 50.4
วันอังคาร
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าตัวเลขแบบปีต่อปีจะคงที่ -1.6% และแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะคงที่ -2.0%
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI): คาดว่าจะคงที่ 0.1%
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก -7.2% เป็น -12.0%
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนีวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดย CB: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 86.6 เป็น 91.6
19:50 (ญี่ปุ่น) ดัชนีผู้ผลิตรายใหญ่จาก Tankan: คาดว่าจะลดลงจาก -8 เป็น -31
19:50 (ญี่ปุ่น) ดัชนีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจาก Tankan: คาดว่าจะลดลงจาก 8 เป็น -18
21.45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: คาดว่าจะลดลงจาก 50.7 เหลือ 50.5
วันพุธ
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 44.6
03:55 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจาก 238K เป็น 120K
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 50.1
08:15 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขคาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจาก ADP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -2.760K เป็น 3,000K
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 43.1 เป็น 49.0
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 1.442M
14:00 (สหรัฐฯ) รายงานการประชุมจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC)
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2,509K เป็น 3,074K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานอัตราการว่างงาน: คาดว่าจะลดลงจาก 13.3% เป็น 12.3%
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -17.7% เป็น 16.3%
วันศุกร์
04:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคบริการ: คาดว่าจะคงที่ 47.0
หมายเหตุ: วันศุกร์คือวันหยุดแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักทรัพย์จะปิดทำการในวันดังกล่าว