ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากมีประเด็นบวกและลบผสมกัน ทั้งในฝั่งการระบาดของไวรัส ตัวเลขเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินเข้ามามากขึ้น
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (industrial Production) ที่จะกลับมาขยายตัวได้ 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่วันพฤหัส จะมีการประชุมธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และอังกฤษ (BOE) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองธนาคารกลางจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.75% และ 0.10% เท่าเดิม แต่อาจใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง (QE) เข้ามาหนุนเศรษฐกิจแทนที่
ส่วนในฝั่งของสหรัฐ ยังคงแนะนำให้จับตาตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในช่วงคืนวันพฤหัส คาดว่าจะมีคนขอรับสวัสดิการเกินหนึ่งล้านตำแหน่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ในระดับสูงกว่าปรกติ แต่เมื่อมีการทยอยกลับไปทำงานบ้างก็ต้องถือเป็นสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
ส่วนในฝั่งของตลาดเงิน เริ่มมีกระแสการฟื้นตัวของดอลลาร์เข้ามาในตลาดมากขึ้น เมื่อความกังวลเรื่องไวรัสระบาดรอบสองกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นของมหาลัยมิชิแกน (UoM Sentiment Index) ก็รายงานออกมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นแรงหนุนให้กับเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้น
ด้านเงินบาทยังคงเกาะระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์อยู่ เมื่อนักค้าเงินส่วนใหญ่มีความกังวลกับท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจมีนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามากำกับในตลาดช่วงนี้ ซึ่งจุดที่น่าจับตามากที่สุดคือแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ เพราะความกังวลจะลดลงถ้าต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของไทย อย่างไรก็ดีในระยะกลาง เชื่อว่ายังคงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทต่อ จากการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาทองคำยังคงอยู่ในระดับสูง
ดูอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท USD/THB ( กดดูกราฟ)
กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.75-31.25 บาทต่อดอลลาร์
ห้ามพลาด