นอกจากสกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนมูลค่าเมื่อทียบกับสกุลเงินฝั่งยุโรปแล้วดอลลาร์ยังไม่สามารถสู้มูลค่ากับสกุลเงินเยนและสวิตฟรังก์ได้อีกด้วย จากพฤติกรรมของกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดครั้งนี้นักลงทุนไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากเฟด ตลาดไม่คิดว่าเฟดจะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหรือเพิ่มวงเงินในการทำ QE แต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นรายละเอียดจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ในคืนนี้เราอาจจะได้เห็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินและตลาดหุ้นได้
1.) แผนภาพที่แสดงถึงประมาณการนโยบายอัตราดอกเบี้ย - หนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในเดือนมิถุนายนคือการคาดการณ์ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ย ครั้งสุดท้ายที่ FOMC มีการประมาณการกันคือเดือนธันวาคมปี 2019 และการประชุมในเดือนมีนาคมได้ถูกยกเลิกไป จากการประชุมครั้งล่าสุดผู้วางนโยบายมองว่าจะสามารถคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ (ในตอนนั้น) เอาไว้ได้จนถึงปี 2021 แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าเพราะโควิด-19 เข้ามาจึงทำให้สหรัฐฯ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงไปจนเหลือเพียง 0%-0.25% และยังมีโอกาสจะลงได้มากกว่านี้หากเศรษฐกิจของอเมริกายังไม่ดีขึ้น คำถามสำคัญก็คือว่าผู้วางนโยบายคิดจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไปอีกนานแค่ไหน? ตอนนี้ทุกคนทราบดีแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในระดับต่ำจากตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2021 แต่ผู้วางนโยบายได้มองไปถึงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เลยหรือไม่ ยิ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานเท่าไหร่ยิ่งส่งผลเสียต่อตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาลและสกุลเงินดอลลาร์มากเท่านั้น
2.) การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ - ครั้งล่าสุดที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจคือ 6 เดือนก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER) พึ่งออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ดังนั้นนักลงทุนในวันนี้สามารถเตรียมตัวเตรียมใจที่จะฟังข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 เอาไว้ก่อนได้เลยว่าจะต้องออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน เรื่องของการเติบโตฯ เชื่อว่าตลาดได้ทำใจเอาไว้แล้วแต่สิ่งที่ตลาดต้องการจะทราบคือเฟดจะกล้าคาดการณ์ระยะเวลาการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหรือไม่ว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน แม้ว่าข้อมูลในตารางด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โดนผลกระทบเชิงลบมาตั้งแต่การประชุมในเดือนเมษายน แต่ข้อมูลการจ้างงานและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมีตัวเลขที่ดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูแต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 9-12 เดือนหรือ 2-3 ปี? ยิ่งระยะเวลาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ กินระยะเวลาน้อยเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้นเท่านั้น
3.) ภาพรวมทางเศรษฐกิจในมุมมองของประธานเฟด - จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายและเป็นสิ่งที่ตลาดมักจะให้ความสนใจมากที่สุดคือคำแถลงการณ์ของประธานเฟดที่มีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงานของเฟดในอนาคต ตลาดคาดการณ์เอาไว้แล้วว่านโยบายทางการเงินน่าจะยังคงผ่อนคลายไม่เปลี่ยนแปลงและยังเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินลงไปมากกว่านี้อีก อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนสนใจคือในความคิดของเจอโรม พาวเวลล์เขาเชื่อจริงๆ หรือไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้วอย่างที่นักลงทุนในตลาดหุ้นเชื่อ? เขามองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 อย่างที่ตัวเลขนอนฟาร์มกระโดดขึ้นมา 2.5 ล้านตำแหน่งด้วยหรือไม่? พาวเวลล์ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดรอบที่ 2 ของโควิด-19 อยู่หรือเปล่า? นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นแล้วยังมีวิธีไหนที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้สกุลเงินดอลลาร์อีก?
หลังจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในเวลาตี 01:00 ตามเวลาประเทศไทยในเวลาตี 01:30 จะเป็นเวลาที่ประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวลล์ออกแถลงการณ์ถึงการประชุมที่พึ่งเกิดขึ้น สกุลเงินดอลลาร์จะผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อตลาดได้ทราบผลสรุปของแผนภาพที่แสดงถึงประมาณการนโยบายอัตราดอกเบี้ย การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและแถลงการณ์จากประธานเฟด เราคาดการณ์ว่าสกุลเงินดอลลาร์จะปรับตัวลดลงมาก่อนและหากคำแถลงการณ์ของประธานเฟดไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไปนัก มีคำพูดที่ชี้ให้เห็นว่ามีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดอลลาร์จะถึงเวลาสยายปีกและกดคู่สกุลเงินสำคัญๆ อย่างเยน แคนาดาดอลลาร์, ออสเตรเลียดอลลาร์ และนิวซีแลนด์ดอลลาร์ให้อ่อนมูลค่าลงไป ยิ่งไปกว่านั้นหากผลการประชุมวันนี้เป็นข่าวดีกับดอลลาร์แบบไม่มีใครคาดคิด สกุลเงินที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือยูโรกับปอนด์