ตลาดหุ้นและฟอเร็กซ์ทะยานขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหลังจากตลาดได้ทราบข่าวดีเมื่อตัวเลขภาคแรงงานของทั้งสหรัฐฯ และแคนาดาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ สร้างความประหลาดใจมากกว่าใครเพื่อนเพราะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในเดือนพฤษภาคมนอกจากจะดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์แล้วยังสามารถกลับขึ้นไปยืนในแดนบวกที่ตัวเลข 2.5 ล้านตำแหน่งแทนที่จะลดลง 7.5 ล้านตำแหน่ง หักปากกานักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 78 คนที่บลูมเบิร์กไปทำการสำรวจมา
การที่ตัวเลขนอนฟาร์มออกมาดีในคราวนี้ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ขาขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยิ่งเป็นตัวช่วยยืนยันว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์นั้นได้ผล นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงไปถึงภาคประชาชนแล้วทรัมป์ยังอนุญาตให้ธุรกิจที่สามารถกลับไปจ้างพนักงานกลับมาทำงานได้มีอภิสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายคืนเงินกู้และนั่นคือคำตอบว่าทำไมตัวเลขนอนฟาร์มเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถึงออกมาดียิ่งนัก การฟื้นคืนกลับมาอย่างรวดเร็วของตัวเลขการจ้างงานฯ ครึ่งหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับธุรกิจร้านอาหารที่กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่ก่อนวันทหารผ่านศึก
นอกจากนี้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ก็ลดลงด้วยเช่นกันจาก 14.7% เหลือ 13.3% โดยมีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 19.7% แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ (Bureau of Labor Statistics) ได้ออกมายอมรับว่าอัตราว่างงานที่ประกาศออกมาคลาดเคลื่อนและขอปรับตัวเลขจาก 13.3% ขึ้นเป็น 16.3% อีกหนึ่งข่าวร้ายคืออัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมงลดลง 1% แม้จะเป็นเรื่องที่ควรจะดีใจแต่เมื่อมองไปยังอนาคตนักลงทุนบางกลุ่มเริ่มตั้งคำถามว่า “ตัวเลขการจ้างงานในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงไปได้อีกนานแค่ไหน?”
ค่อนข้างเป็นไปได้ทีเดียวที่เราจะได้เห็นข่าวดีในภาคแรงงานยืนระยะไปได้อีกสักพักเพราะตัวเลขในช่วงครึ่งเดือนแรกของพฤษภาคมนั้นวัดถึงเฉพาะช่วงการกลับมาเปิดเมืองเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เท่านั้น หลังจากช่วงเวลานั้นเราก็ทราบกันดีว่ามาตรการเข้มงวดเรื่องโควิด-19 ในหลายๆ รัฐมีการผ่อนปรนลง การจ้างงานกลับมา ที่สำคัญคือกิจการในทุกๆ ภาคส่วนกำลังรีบจ้างพนักงานเดิมกลับมาทำงานให้ได้ก่อนวันที่ 30 มิถุนายนเพื่อที่จะสามารถเข้าเงื่อนไขโปรโมชันของรัฐบาลที่ให้สิทธิ์เจ้าของกิจการไม่ต้องจ่ายคืนเงินกู้ ข่าวดีนี้ส่งผลให้กราฟ USD/JPY ทะยานขึ้นทันที สกุลเงินปอนด์และออสเตรเลียดอลลาร์แม้จะไม่ขึ้นต่อแต่ก็ยังไม่ถือว่าย่อลงมามากนักเมื่อเทียบกับกราฟ EUR/USD ที่นอนฟาร์มสามารถหยุดสถิติขาขึ้น 8 วันติดต่อกันได้สำเร็จ แต่ถึงกระนั้น EUR/USD ก็ยังสามารถวิ่งอยู่บริเวณราคา 1.1300 ได้อยู่
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนแล้วยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ภาพรวมในการประชุมสัปดาห์นี้ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงขึ้นว่าเฟดจะคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมและจะยิ่งทำให้เฟดไม่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมถึงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงไปจนติดลบอีก นอกจากตัวเลขนอนฟาร์มที่ดีขึ้นเป็นเหตุผลรองรับแล้วเฟดยังสามารถดึงข้อมูลตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการมาอ้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย ถ้าสัปดาห์นี้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นการกลับมาของสกุลเงินดอลลาร์อีกครั้ง
ข้อมูลตัวเลขการจ้างงานของแคนาดาดีขึ้นเช่นเดียวกับของสหรัฐฯ จากตอนแรกตลาดคาดการณ์ตัวเลขการว่างงานไว้ที่ 500,000 ตำแหน่งกลับกลายเป็นว่าตัวเลขที่ออกมามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 289,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ข่าวดีก็คืองานที่มีการกลับมาจ้างเหล่านั้นเป็นการทำงานแบบเต็มเวลาด้วย แม้อัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 13% เป็น 13.7% แต่ตัวเลขกิจกรรมในภาคแรงงานดีขึ้นมากซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มกลับมาทำงานตามปกติแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นการที่ดัชนี PMI จาก IVEY ดีดขึ้นจาก 22.8 เป็น 39.1 ยิ่งเป็นการยืนยันว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังกลับมา แม้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะออกมาดีขึ้นอย่างน่าตกใจแต่กราฟ USD/CAD กลับสามารถลงไปหาจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
โดยภาพรวมแล้วปริมาณการซื้อขายของตลาดสกุลเงินเมื่อวันศุกร์หลังจากที่มีรายงานตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาแล้วสร้างความประหลาดใจและความคึกคักให้กับตลาดลงทุนเป็นอย่างมาก กราฟ EUR/USD ในที่สุดก็ต้องจบสถิติขาขึ้น 8 วันติดต่อกันลงในขณะที่ AUD/USD ยังคงรักษาสถิติขาขึ้นเป็นวันที่ 7 ติดต่อกันเอาไว้ได้ส่วนกราฟ NZD/USD ทำสถิติขาขึ้น 5 วันติดต่อกันอยู่ ในสัปดาห์นี้แม้มีความเป็นไปได้ที่ขาขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไปแต่เพราะข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ยังไม่มีความสำคัญมากเท่ากับของฝั่งสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าสัปดาห์นี้เราจะได้เงินราชาแห่งสกุลเงินอย่างดอลลาร์กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง