ตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานักลงทุนตกอยู่ในความวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะมีข่าวมาสร้างความประหลาดใจที่อาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและฮ่องกง อย่างไรก็ตามตลาดค่อนข้างวางใจเพราะแถลงการณ์ของเขาเมื่อวันศุกร์ไม่ได้เผยข้อมูลใดที่แสดงให้เห็นว่าจะส่งผลกระทบกับจีน พาดหัวข่าวใหญ่ที่มาจากการแถลงในวันนั้นคือการที่สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ทรัมป์ไม่ได้กล่าวถึงการขึ้นภาษีทางการค้าในขั้นแรกขึ้นแต่อย่างใดแต่เผยว่าความสัมพันธ์และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ที่เคยมีให้กับฮ่องกงจะเปลี่ยนไปและอาจจะข้อกำหนดใหม่ออกมาใช้กำกับการค้ากับฮ่องกงโดยเฉพาะ
สกุลเงินและตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเพราะนักลงทุนคลายความกังวลใจไปได้แม้ว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาจะลดลงเช่นตัวเลขค่าเฉลี่ยการจับจ่ายใช้สอยส่วนบุคคลในเดือนเมษายนลดลง 13.6% ตัวเลขการค้าขาดดุลขยายตัว -$69.7 พันล้านเหรียญสหรัฐจากตัวเลขครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ -$65 พันล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามตัวเลขค่าเฉลี่ยรายได้ส่วนบุคคลกลับเพิ่มขึ้น 10% เพราะตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ปรับลดลงมา ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ยังคงย้ำว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ลงมาจนติดลบไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาจะเลือกเพราะบัญชีงบดุลของประเทศยังไม่ได้แย่ขนาดนั้น
ถือเป็นธรรมเนียมของตลาดลงทุนที่สัปดาห์แรกของการเริ่มต้นเดือนใหม่จะทำให้ตลาดลงทุนมีความผันผวนมากถึงมากที่สุด ในสัปดาห์นี้นักลงทุนจะจับตาดูข่าวการปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 3 ธนาคารกลางสำคัญ สหรัฐฯ มีรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ในวันศุกร์ส่วนออสเตรเลียและแคนาดามีรายงานตัวเลขในตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน แม้ NFP จะเป็นข่าวใหญ่ที่ต้องจับตาดูแต่เชื่อว่าตัวเลข NFP รอบนี้จะไม่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ มากนัก ตลาดคาดว่ารายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ จะมีตัวเลขลดลงด้วยแต่ถ้าตัวเลขที่ออกมายังลดไม่ถึงเป้าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อีกกระแสการพูดถึงอัตราดอกเบี้ยติดลบจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญนักวิเคราะห์มองว่าตัวเลข NFP และ ISM จะเป็นตัวยืนยันว่าไม่เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ V-Shape แน่นอน
สถานการณ์ของสกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์แรกของเดือนใหม่ก็จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนเช่นเดียวกันเพราะออสเตรเลียมีรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตตามด้วยการแถลงนโยบายทางการเงินจากแบงก์ชาติออสเตรเลีย (RBA) ในวันอังคาร วันพุธมีรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 ปิดท้ายด้วยรายงานตัวเลขยอดขายปลีกและบัญชีการค้าในวันพฤหัสบดี การประชุมของ RBA ในเดือนที่แล้วทำให้สกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่งแม้ทางธนาคารกลางฯ จะบอกว่าแบงก์ชาติพร้อมจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่ออุ้มภาคธุรกิจและแรงงานเอาไว้แม้ว่าจะต้องเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม
นางอิซาเบล ชนาเบลหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาจากสภาผู้เชื่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของเยอรมนีพูดอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาว่า ECB พร้อมแล้วที่จะมีการเพิ่มมาตรการบังคับใช้ทางการเงินในขณะที่รองประธาน ECB นายลูอิส เด กินโดสกล่าวว่า ECB จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมาตรการทางการเงินใหม่ส่วนหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์นายฟิลิป เลนบอกว่าเพราะเศรษฐกิจเจอโควิด-19 จนทำให้เกิดการชะงักอย่างรุนแรงดังนั้น ECB จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้มาตรการทางการเงินมีสภาพคล่องให้มากที่สุด การที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าการผ่อนคลายทางการเงินจะมาแน่และความร้อนแรงของขาขึ้นยูโรจะถูกชะลอตัวลง