ตลาดการเงินทั่วโลกเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ (Risk On) รับข่าวดีที่ยาต้านไวรัสอาจทดสอบสำเร็จเร็วกว่าคาด ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นถึง 3.1% ขณะที่ Euro Stoxx 50 ก็ปรับตัวบวก 5.1% พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐและเยอรมันอายุ 10 ปี ที่ขยับขึ้นมาแตะระดับ 0.72% และ -0.47% ตามลำดับ (+6-7bps) ซึ่งภาพตลาดดังกล่าว ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงจากระดับสูงสุดของปีนี้ราว 10 ดอลลาร์ลงมาที่ 1735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสูงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม
ขณะเดียวกัน ฝั่งเศรษฐกิจก็เป็นบวกกับการลงทุนมากขึ้น ล่าสุดสภาพัฒน์ รายงานจีดีพีไตรมาสแรกของไทยปีนี้หดตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะติดลบ 4.0% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัว 3.0% จึงมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่กนง. อาจ "คงดอกเบี้ย" ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค. นี้
สำหรับในฝั่งของตลาดเงินก็เป็นไปตามคาดที่เงินดอลลาร์จะถูกกดดันจากตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง เห็นได้ชัดจากการอ่อนค่าราว 0.7% เมื่อคืนก่อน โดยดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) USD/AUDเป็นสกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด และมีเพียงสกุลเงินปลอดภัยอย่างเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่า
ด้านเงินบาท USD/THB มองว่าจะมีแรงกดให้แข็งค่าลงต่ำกว่า 32.00 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้แน่นอน ซึ่งจุดที่น่าจับตาที่สุด คือมุมมองของธปท.กับระดับค่าเงินในปัจจุบัน เพราะถ้ามองในเรื่อง "ทิศทาง" การเคลื่อนไหวเงินบาทที่แข็งเรื่อย ๆ อาจไม่ได้สนับสนุนการส่งออกมากนัก แต่ถ้ามองในมุมของ "ความผันผวน" ก็ถือว่าเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวผิดปรกติเช่นกัน ซึ่งธปท.อาจเลือกดูแลเงินบาท เฉพาะในช่วงที่เคลื่อนไหวผิดจากสกุลเงินภูมิภาคมากเท่านั้น