การประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งที่ 2 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ กลายเป็นสมาชิกคนล่าสุดของกลุ่ม “ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% (ZIRP)” เท่านั้นยังไม่พอธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังแถมโปรโมชันทำ QE กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเงินจำนวน $70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 50 จุดเบสิสในวันที่ 3 มีนาคมซึ่งหลังจากวันนั้นหลายๆ ธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาด้วยเช่นกัน
แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด…
หลังจากที่เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ไปแล้ว ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ก็ขอออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน 75 จุดเบสิสเหลือ 0.25% ธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (BoJ) ก็ได้ประกาศแผนการกู้ยืมอัตราดอกเบี้ย 0% และได้เข้ามาอุ้มกองทุน ETF เอาไว้เพื่อให้ประชาชนมีความั่นใจและต้องการลงทุนในสินทรัพย์มากขึ้น ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาว่าพวกเขาได้เตรียมเงินจำนวน $100,000 ล้านเหรียญสหรัฐเอาไว้แล้วในกรณีที่ธนาคารกลางของประเทศไหนในโลกก็ตามที่ต้องการกู้ยืมเงิน แม้ว่าตอนนี้ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังไม่ทำงานร่วมกันอย่าง 100% แต่ก็ดูเหมือนว่าการประสานงานหรือทิศทางการดำเนินการดูเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น ผลการประชุม G7 ฉุกเฉินเมื่อเช้านี้ได้ข้อสรุปว่าพวกเขายังไม่หมดไพ่ตายและยังพร้อมที่จะแทรกแซงทางการเงิน ปิดประเทศ หรือปิดตลาดซื้อขายหุ้นได้ทุกเมื่อหากจำเป็น
เราคงจะได้ยินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น รวมไปถึงข่าวการล้มละลายและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งตัวเลขปัจจัยเหล่านี้สูงขึ้นมากเท่าไหร่ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยกับการห้ามเลือดไม่ให้ไหล แม้ว่าในบางภาคส่วนจะยังคงสามารถทำงานต่อไปได้จากการทำงานอยู่ที่บ้าน หรือในสถานที่ที่ปลอดภัยแต่การที่ไม่มีใครออกไปทำมาค้าขาย ซื้อของ หรือใช้เงินก็เป็นปัญหากระทบต่อธุรกิจอยู่ดี ดัชนีวัดตัวเลขภาคการผลิตจากเอ็มไพร์สเตต (Empire State Manufacturing Index) คือตัวบ่งชี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมทางธุรกิจได้ดีเพราะตอนนี้ตัวเลขดัชนีได้ร่วงลงไปต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 ก่อนที่เมืองนิวยอร์กจะเข้าสู่การปิดเมืองด้วยซ้ำ
ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรกับนักลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์?
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) 0-0.25%
- ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) 0.5%
- ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ (SNB) -0.75%
- ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) 0%
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) -0.1%
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) 0.25%
- ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) 0.75%
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) 0.25%
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าตอนนี้ธนาคารกลางแคนาดามีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด อันดับสองตามมาด้วยธนาคารกลางออสเตรเลีย ถือว่าแคนาดายังทำได้ดีในการรักษาอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสั่งหั่นอัตราดอกเบี้ยฮุกเฉินไปแล้ว 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับแคนาดาคือปัจจัยราคาน้ำมัน ที่วิ่งอยู่ต่ำกว่า $30 บาร์เรล แคนาดาถือว่ารับศึกสองด้านทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในแนวโน้มขาลงและปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารกลางออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกที่ขอเริ่มต้นการลดอัตราดอกเบี้ยก่อนแต่การลดอัตราดอกเบี้ยของ RBA เป็นการลดในจำนวนที่ไม่มาก พวกเขายังมีทางเลือกในการจะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินก่อนหรือสามารถเลือกที่จะรอดูท่าทีของธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ไปก่อนได้ เฟดสหรัฐฯ ไม่มีทางถอยไปมากกว่านี้อีกแล้วในขณะที่การปฏิเสธจะลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ธนาคารกลางนิวซีแลนด์กล่าวว่าพวกเขาจะอยู่ที่ตัวเลขนี้ไปอีกสักระยะและกำลังพิจารณาแผนการซื้อสินทรัพย์ในสเกลใหญ่เอาไว้หากว่าจำเป็นต้องทำ