ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 03 มีนาคม 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
ข่าวใหญ่ที่สุดในช่วงเช้าวันจันทร์ของวงการลงทุนสหรัฐฯ คงหนีไม่พ้นการฟื้นคืนชีพของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีดาวโจนส์กระโดดขึ้นมากกว่า 1,200 ภายในวันเดียว น่าประหลาดใจที่ถึงแม้ข้อมูลตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจาก ISM จะออกมาลดลงจาก 50.9 เหลือ 50.1 แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับยังคงปรับตัวขึ้นได้ นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกก็ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวด้วยเช่นกัน ถ้าข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีตัวเลขลดลงจึงเป็นไปได้มากว่าข้อมูลตัวเลขในเดือนมีนาคมย่อมออกมาหดตัว อ้างอิงข้อมูลจากดัชนี PMI ตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตในจีนลดลงจนสามารถสร้างจุดต่ำสุดใหม่เป็นประวัติกาล ไวรัสโคโรนาได้เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาแล้วและมีตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ตามหลักการณ์แล้วตลาดหุ้นควรจะปรับตัวลดลงไม่ใช่ปรับตัวสูงขึ้น นอกเสียจากว่าการขึ้นมาครั้งนี้เกิดขึ้นจากความหวังของนักลงทุนที่เชื่อว่าจะมีการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันศุกร์ที่แล้วนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เผยว่าไวรัสโคโรนากำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ คำพูดนี้สามารถตีความเป็นนัยอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเฟดอาจจะยอมลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนจึงต้องจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนนี้ให้ดี เมื่อช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายแห่งอย่างเช่นอังกฤษ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปได้ออกมาพูดในทำนองที่คล้ายกันว่าพร้อมจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น ECB ออกมาพูดถึงความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนซึ่งรวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางการเงินตอบโต้ไวรัสโคโรนา รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่ม G7 จะมีการประชุมด่วนในวันนี้ก่อนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดเพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบและวิธีรับมือไวรัสโคโรนาในขั้นต่อไป ธนาคารกลางหลายแห่งได้ออกมาเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนว่าพวกเขาไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังดำเนินการบางอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นตามความคาดหวังของตลาดซึ่งอย่างเร็วที่สุดเราอาจจะได้เห็นผลลัพธ์ภายใน 2-3 วันต่อจากนี้
ธนาคารกลางออสเตรเลียขอเปิดฉากรบกับไวรัสโคโรนาก่อนเลยด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 จุดเบสิสเหลือ 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของ RBA ว่า “ในเดือนมีนาคม RBA จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 หรือ 50 จุดเบสิสส่วนเดือนเมษายนจะลดลงอีก 25 จุดเบสิส” ไม่ต้องถามหาถึงสาเหตุเลยว่าทำไมธนาคารกลางออสเตรเลียถึงตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพราะพวกเขาคาดการณ์ไว้แล้วว่าไวรัสโคโรนาจะสร้างผลกระทบอย่างหนักกับเศรษฐกิจออสเตรเลียแน่นอน หากพิจารณาตารางด้านล่างจะพบได้ว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขยอดขายปลีก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การจ้างงาน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและราคาที่อยู่อาศัยล้วนออกมาดีแม้ว่าตัวเลขในภาคการบริการและการผลิตจะหดตัวลงก็ตาม
ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผู้ว่าแบงค์ชาติออสเตรเลียนายฟิลิป โลวียอมรับว่าสถานการณ์ของไวรัสโคโรนากระทบกับภาคการศึกษาและการท่องเที่ยวของออสเตรเลียเป็นอย่างมาก จากรายงานการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) เผยว่า “ธนาคารกลางฯ ได้มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนกับยอดผู้เสียชีวิตในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจึงทำให้ธนาคารกลางฯ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากลดอัตราดอกเบี้ย ในตอนนั้นเราคาดว่าจะปรับลดลงมาอีก 25 จุดเบสิส” เราคาดว่าเหตุผลที่ RBA เลือกลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 25 จุดเบสิสในครั้งนี้เพราะต้องการรอดูท่าทีของธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกด้วย พวกเขาต้องการประหยัดกระสุนเอาไว้ใช้ในภายหลังซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยของ RBA เมื่อเช้านี้ส่งผลให้สกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ