- ตลาดดัชนีส่วนใหญ่ทั่วโลกมีราคาปิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นลบ
- ทองคำยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
- การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเพิ่มมากขึ้นนอกชายฝั่งประเทศจีน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก่อนตลาดปิดดูเหมือนว่าอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดตอนนี้เริ่มมีความวิตกกังวลกับสถานการณ์ของไวรัสโคโรนามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้รูปแบบแท่งเทียนที่ออกมาในแต่ละวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วส่วนใหญ่มักเป็นรูปแบบที่ไม่แสดงทิศทางราคาที่ชัดเจน รูปแบบเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเฉพาะกับตลาดดัชนีสหรัฐฯ เท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ในฝากยุโรปและเอเชียซึ่งมีราคาปิดเป็นแท่งสีแดงเกือบจะคล้ายกันหมด เป็นไปได้ว่าทันทีที่ตลาดลงทุนเปิดในวันจันทร์เราอาจจะได้ลงทุนกันในตลาดขาลง
นอกจากการปิดติดลบของดัชนีต่างๆ เมื่อวันศุกร์แล้วสิ่งที่ช่วยยืนยันชัดเจนว่าตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสปรับตัวลดลงจริงคือการวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรแบบ 10 ปีและพันธบัตรแบบ 30 ปี เนื่องจากนักลงทุนต้องการหันไปถือสินทรัพย์สำรอง
แม้แต่การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็เริ่มแสดงการเปลี่ยนทิศทางของราคาเป็นขาลงแล้ว
ตลาดดัชนีทุกตัวของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีดาวโจนส์ S&P 500 แนสแด็กและ Russell 2000 ต่างพากันปรับตัวลดลงก่อนถึงวันหยุดสุดสัปดาห์โดยมีค่าเฉลี่ยของการลดลงอยู่ที่ตัวละ 1.2% นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ที่สัญญาณในตลาดหุ้นส่งสัญญาณ “ขายอย่างรุนแรง”
แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะยังคงวิ่งอยู่ในกรอบราคาของขาขึ้นและยังไม่สามารถทะลุแนวรับของเส้นค่าเฉลี่ย 50DMA ลงมาได้แต่อินดิเคเตอร์อย่าง MACD และ RSI เริ่มส่งสัญญาณไดเวอร์เจนต์ขาลงออกมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าอินดิเคเตอร์ไม่รองรับแรงของขาขึ้นต่อจากนี้อีกต่อไป ไม่ใช่เพียงแต่ดาวโจนส์เท่านั้นแต่ดัชนีหลักอีก 3 ตัวก็มีรูปแบบการวิ่งของราคาที่คล้ายกันคือการเกิดไดเวอร์เจนต์ขาลงของอินดิเคเตอร์ MACD และ RSI
ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง -0.78% ดัชนีแนสแด็กปรับตัวลดลงเกือบ 2% (-1.79%) ส่วนอีกสองดัชนีปรับตัวลดลงตัวละมากกว่า 1%
สถานการณ์ความน่าปวดหัวใหม่ของการแพร่กระจายเชื้อไวรัส
สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาล่าสุดเข้าสู่ฉากใหม่แล้ว แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคในประเทศจีนจะชะลอตัวลงแล้วแต่กลายเป็นว่าการแพร่ระบาดนี้กลับแพร่หนักขึ้นในประเทศเอเชียอื่นๆ เช่นเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 คน สิงคโปร์มี 85 คน ญี่ปุ่นมี 135 คนและเริ่มมีข่าวผู้ติดเชื้อรายใหม่ๆ ในตะวันออกกลางและทวีปยุโรป
เชื่อว่าในการประชุม G20 ซึ่งเกิดขึ้น ณ เมืองริยาดประเทศซาอุดิอาระเบียและมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศชั้นนำต่างๆ เข้าร่วมประชุมได้หารือกันถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจ พวกเขาต่างเอ่ยถึงวิธีการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 และล่าสุด IMF ได้ออกมาลดตัวเลขภาพรวมการเติบโตทาง GDP ของจีนลงจาก 6.0% เหลือ 5.6%
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกดูเหมือนว่าจะชะลอตัวด้วยเช่นกันเพราะนโยบายการปิดประเทศจีนของท่านผู้นำสี จิ้นผิงทำให้การค้าขายลดลง ไม่มีการส่งของ ไม่มีการเดินทาง ไม่มีการท่องเที่ยวจึงทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้แต่ฝั่งสหรัฐฯ เองที่ตอนนี้ได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดท่ามกลางวิกฤติโคโรนาตอนนี้เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวให้เห็นแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดย Markit ของเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งดัชนีตัวนี้จะวัดผลผลิตของภาคการบริการและโรงงานรวมกันพบว่ามีตัวเลขลดลงมา 3.7 จุดเหลือ 49.6 ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2013 ในตอนนั้นคือช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมีปัญหา
ข้อมูลทางเศรษฐกิจในช่วงสุดสัปดาห์แสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียและญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้มียอดความต้องการจากผู้คนในประเทศจีนลดลงจนยอดขายดิ่งเหวอย่างน่าใจหายถึง 92% แต่น่าแปลกใจที่ข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอย่างดัชนีวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับออกมาทำตัวเลขจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 6 เดือนได้เช่นเดียวกับดัชนีภาคการผลิตของเยอรมัน
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีความเห็นว่าการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้มีการพัฒนาพื้นฐานทางโครงสร้างโดยเร็วคือวิธีที่พอจะสู้กับไวรัสโคโรนาไปได้พลางๆ
เมื่อเดือนก่อนในบทความนี้เราเคยกล่าวไว้ว่าไวรัสโคโรนาอาจจะสิ้นสุดในเวลาไน่นานเหมือนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ SARS ซึ่งตอนนั้นเราเปรียบเทียบข้อมูลกับเฉพาะโรค SARS แต่ล่าสุดนายเอ็กซ์เซล เว็บเบอร์ (Axel Weber) ประธาน UBS ให้ความเห็นว่ามนุษยชาติอาจจะประมาทไวรัสโคโรนาเกินไปเช่นเดียวกันกับสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาให้ความเห็นว่าไวรัสโคโรนาอาจต้องกลายเป็นปัญหาระดับมนุษยชาติที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข
เรามาเริ่มที่กราฟราคาทองคำผู้เป็นที่พึ่งในยามยากของเหล่านักลงทุนกันก่อน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาทองคำได้สร้างจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่วันที่ 12 เดือนกุมภาพันธ์ปี 2013 ได้สำเร็จ
ในขณะที่ทองคำเถลิงขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่แต่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แบบ 30 ปีกลับดิ่งลงสู่หุบเหวแนบรับเดิม แม้จะมีความเป็นไปได้ที่กราฟอาจดีดขึ้นจากแนวรับที่ 1.917 แต่การดีดขึ้นอาจกลายเป็นเพียงการย่อของแนวโน้มขาลงและอาจทำให้ราคาต้องปรับตัวลดลงไปในระยะที่เท่ากับกับตอนที่ลงมาจาก 2.4 ถึง 2.000
ในที่สุดกราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐก็ปรับตัวลงมาแล้วและการลดลงครั้งนี้แท่งเดียวเท่ากับการปรับตัวขึ้นมาตลอด 3 วันก่อนหน้าเช่นเดียวกันกับกราฟ USD/JPY ที่ปรับตัวลดลงมาวันเดียวเท่ากับการวิ่งขึ้นมาตลอด 2 วันก่อนหน้าและมีราคาปิดต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 112 แล้วซึ่งเป็นจุดสูงสุดของราคานับตั้งแต่วันที่ 17 เดือนเมษายนปี 2017
กราฟ EUR/USD สามารถหยุดการร่วงลงอย่างต่อเนื่องได้จากข้อมูลตัวเลขดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ออกมาดีแม้ว่ากราดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะยังถือว่าอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอยู่ก็ตาม กราฟยังมีพื้นที่ให้ปรับฐานอีกก่อนจะลงมาทดสอบเทรนไลน์อยู่เหนือระดับ 98.00 ได้ส่วนเส้นค่าเฉลี่ย 50DMA และ 200DMA กำลังจะตัดกันเพื่อสร้างแนวรับระยะยาวใหม่
การวิเคราะห์รูปแบบการวิ่งของกราฟบิทคอยน์ค่อนข้างจะซับซ้อน เป็นไปได้ว่ากราฟอาจจะกำลังสร้างรูปแบบขาขึ้นต่อหมายความว่าแรงขาขึ้นจากรูปแบบหัวไหล่ (H&S) ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปียังไม่หมด สถานการณ์โดยรวมของตลาดคริปโตเคอเรนซี่ยังคงไม่มีความคืบหน้าในวงการมากเท่าไหร่นักนอกจากข่าวตัวแทนคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินนายแรนดัล ควาเรส (Randal Quarles) ได้ออกมาเตือนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างกฏหมายทางการเงินก่อนการประชุม G20 จะเกิดขึ้นว่าให้เร่งพัฒนาระบบการนำเงินเฟียต (Fiat Money) เข้าสู่รูปแบบดิจิทัล
ถ้าราคาบิทคอยน์สามารถทะลุกรอบราคาขึ้นไปยืนเหนือระดับ $10,000 ได้อีกครั้งอาจหมายความว่ามีนักลงทุนบางส่วนมองว่าบิทคอยน์คือสินทรัพย์ปลอดภัยอีกตัวหนึ่งนอกเหนือจากทองคำเพราะพวกเขาเป็นกังวลกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนามากกว่าที่จะกลัวหลักกฏหมาย
ราคาน้ำมันดิบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีกครั้งหลังจากที่พี่ใหญ่แห่งกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบียเกิดมีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับพี่ใหญ่แห่งกลุ่มพันธมิตรโอเปกอย่างรัสเซียในเรื่องของการลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา เมื่อรัสเซียไม่เห็นด้วยโอเปกจึงไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้ แม้ว่าข่าวนี้จะทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงมาแต่กราฟก็ยังถูกดันให้มีราคาปิดสูงขึ้นจากจุดต่ำสุดของราคาได้ โชคยังดีที่ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในกรอบขาขึ้นที่ลากมาตั้งแต่จุดต่ำสุดของเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นการหนุนว่าแนวรับ $52 คือแนวรับที่แข็งแกร่งแนวหนึ่ง
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ (เวลาในข่าวเทียบเป็น EST)
วันจันทร์
04:00 (เยอรมัน) - ดัชนีวัดบรรยากาศทางธุรกิจโดย Ifo: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 95.9 เหลือ 95.3 แต่เราอาจจะได้เห็นแท่งเทียนขาขึ้นดีดขึ้นมาหลังจากวันศุกร์ข้อมูลดัชนีวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนออกมาดี
วันอังคาร
02:00 (เยอรมัน) - รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะคงที่อยู่ที่ 0.1% แต่แบบปีต่อปีอาจปรับตัวลดลงจาก 1.0% เหลือ 0.3%
10:00 (สหรัฐฯ) - ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB: คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 131.6 ขึ้นเป็น 132.0
วันพุธ
08:30 (ยูโรโซน) - คำแถลงการณ์จากประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปนางคริสตีน ลาการ์ด
10:00 (สหรัฐฯ) - ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่: คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 694K เป็น 715K
10:30 (สหรัฐฯ) - รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะปรับขึ้นจาก 0.414M เป็น 2.494M
วันพฤหัสบดี
08:30 (สหรัฐฯ) - ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -0.1% เป็น 0.2%
08:30 (สหรัฐฯ) - ตัวเลข GDP: คาดว่าแบบไตรมาสต่อไตรมาสจะคงที่อยู่ที่ 2.1%
10:00 (สหรัฐฯ) - ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการปิดการขาย: อาจจะปรับตัวขึ้นจาก -4.9% ขึ้นเป็น 2.9%
วันศุกร์
03:55 (เยอรมัน) - อัตราการว่างงาน: คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจาก -2K เป็น 3K
08:30 (แคนาดา) - ตัวเลข GDP: คาดว่าแบบเดือนต่อเดือนจะปรับตัวขึ้นจาก 0.1% เป็น 0.2%
20:00 (ประเทศจีน) - ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต: รายงานตัวเลขในเดือนมกราคมจากทางการจีนอาจลดลงจาก 50.0 เป็น 45.0