ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 28 มกราคม 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
แม้ว่าในสัปดาห์นี้นักลงทุนกำลังจับตามองการประกาศนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางแห่งอังกฤษและสหรัฐฯ สถานการณ์ของไวรัสอู่ฮั่นยังคงเป็นประเด็นที่ไม่อาจจะละสายตาไปได้ ตลาดสกุลเงินและตราสารทุนต่างๆ ยังคงพากันปรับตัวลดลงจากความวิตกที่ยอดของผู้เสียชีวิตในประเทศจีนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน หุ้นบริษัทในกลุ่มการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ความกลัวและความวิตกกังวลมีพลังมหาศาลที่สามารถทำให้ราคาปรับตัวลดลงได้เร็วและแรงเกินกว่าที่ใครๆ จะสามารถคาดการณ์ได้ การปรับตัวลดลงของตลาดลงทุนต่างๆ ในสหรัฐฯ วันนี้ถือเป็นการปรับตัวลงที่มากที่สุดในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่มีข่าวดีหรือการเรียกความเชื่อมั่นจากประธานาธิบดิโดนัลด์ ทรัมป์หรือกระทรวงสาธารณสุขจากจีน ดังนั้นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในตลาดลงทุนจึงเป็นเรื่องที่อาจจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกสักระยะ
เมื่อตลาดหุ้นฝั่งเอเชียยังพ่ายแพ้ให้กับความวิตกในเชื้อไวรัสโคโรนาจึงไม่น่าแปลกใจที่สกุลเงินออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ดอลลาร์จะปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก กราฟ AUDUSD และ NZDUSD ปรับตัวลดลงเกือบหนึ่งเปอร์เซนต์ของมูลค่าตัวเอง กราฟทั้งสองปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ของไวรัสโคโรนาโดยรวมแล้วยังไม่ดีขึ้นกว่านี้เป็นไปได้สูงว่าธนาคารกลางของทั้งสองประเทศจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ในช่วงเย็นของวันนี้นักลงทุนในสกุลเงินทั้งสองต้องจับตาดูข่าวตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ ถ้าตัวเลขนี้ออกมาไม่ดีจะยิ่งสร้างความกดดันให้กับสกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ของสกุลเงินแคนาดาดอลลาร์แล้วถือว่าสถานการณ์ของแคนาดายังดีกว่าอยู่มาก แคนาดาดอลลาร์ปรับตัวลดลงเพียงเพราะปริมาณความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกลดลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบอาจลดลงอีกในอนาคตซึ่งจะทำให้สกุลเงินแคนาดาดอลลาร์อ่อนมูลค่าตามไปด้วย
กราฟ USD/JPY ปรับตัวลดลงไปยังจุดต่ำสุดที่ราคา 108.73 ก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดและดันราคาให้กลับขึ้นไปยัง 109 ได้ ตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ในสหรัฐฯ ลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน อย่างไรก็ตามนักลงทุนในสัปดาห์นี้ให้ความสนใจกับรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ และตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐฯ น่าจะคงนโยบายทางการเงินเอาไว้เหมือนเดิมเพราะสถานการณ์ในตะวันออกกลางไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงและการกักกันกับตรวจสอบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาของสหรัฐฯ ที่ยังคงทำได้ดีจะช่วยคลายความกังวลให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ควรประมาทต่อแนวโน้มขาลงที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอนนี้
นอกจากตัวเลขบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ แล้วข่าวตามปฏิทินเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน จีนจะมีรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) นโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางแห่งอังกฤษ ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียและตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ของยูโรโซน แม้ตัวเลขดัชนี PMI ของจีนจะชะลอตัวแต่ดัชนีนี้จะไม่สามารถบอกระยะเวลาการจำกัดขอบเขตของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะทำให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคสูงขึ้นด้วยอย่างไรก็ตามดัชนีนี้จะไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์มากนัก การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนจับตามากที่สุด จากการประชุมสองครั้งล่าสุดมีสมาชิก 2 คนที่โหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เป็นไปได้ว่าในครั้งนี้อาจมีผู้โหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น แม้ว่าตัวเลขดัชนี PMI จะดีขึ้นแต่ความเสี่ยงที่ BoE จะลดอัตราดอกเบี้ยก็มีเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน กราฟ GBP/USD อาจปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับราคา 1.30 ได้ก่อนการประชุมของ BoE
กราฟ EUR/USD วิ่งลงมาอยู่เหนือระดับราคา 1.10 หลังจากที่ตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจของเยอรมันลดลงอย่างน่าประหลาดใจ แม้ว่าก่อนหน้านี้ข้อมูลทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะออกมาดีแต่เพราะตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจของเยอรมันลดลงแสดงให้เห็นความเศรษฐกิจยุโรปกำลังอ่อนแออีกครั้ง สาเหตุหลักๆ มาจากตลาดหุ้นยุโรปที่กำลังปรับตัวลดลงเพราะความหวาดวิตกในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เราเชื่อว่าจะยังไม่เห็นการฟื้นฟูที่รวดเร็วของเศรษฐกิจยุโรปได้ในเร็ววัน อย่างไรก็ตามตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ของยูโรโซนอาจกลายเป็นข่าวดีสำหรับขาขึ้นเพราะตัวเลขดังกล่าวรวมข้อมูลขาขึ้นในช่วงปลายปี 2019 เอาไว้ด้วย