โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2019
นักลงทุนส่วนใหญ่คงพอจะเข้าใจหลักการเบื้องต้นเกี่ยวเส้นกราฟดอกเบี้ยพันธบัตร (yield curve) แบบ inversion อยู่พอสมควรแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ผิดปกติและกระแสข่าวก็โหมกระพือว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณของสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ บางคนก็ทราบด้วยว่าการที่กราฟดอกเบี้ยพันธบัตรเป็นแบบ inversion ซึ่งหมายถึงอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเมื่อมีการถือครองระยะยาวน้อยกว่าดอกเบี้ยในระยะสั้นเนื่องจากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถรักษาเงินลงทุนไว้ให้ได้ไม่ว่าจะเป็น 2 ปีหรือ 10 ปีก็ตาม การเกิดรูปแบบกราฟดอกเบี้ยแบบ inversion เมื่อวันพุธทำให้เกิดความแตกตื่นอย่างมากในตลาดทางการเงินในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จนทำให้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลงไปกว่า 800 จุด นักลงทุนเริ่มแห่กันนำเงินไปลงทุนในสกุลเงินที่มีความปลอดภัยสูงกว่า ราคาทองคำ ก็เพิ่มสูงขึ้นตาม รวมทั้งราคา น้ำมันต่อบาร์เรล ก็ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดมาจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั่นเอง
นักลงทุนยังคงกังวลเนื่องจากการที่กราฟดอกเบี้ยพันธบัตรเป็นแบบ inversion นั้นเป็นตัวพยากรณ์การเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้ง 7 ครั้งที่ผ่านมาได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึง “วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่” ครั้งล่าสุดด้วย แต่แม้ว่ากราฟดอกเบี้ยพันธบัตรแบบ inversion จะเกิดขึ้นก่อนที่เศรษฐกิจจะย่ำแย่ทุกครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะนำมาซึ่งสภาวะเศรษฐกิจถดถออยเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังไม่สอดคล้องกันปรากฏให้เห็นอยู่ จากการศึกษาของ Credit Suisse (SIX:CSGN) แสดงให้เห็นว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 22 เดือนก่อนที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นตามมาได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของเฟดหลายคนก็เคยออกมากล่าวว่าไม่เชื่อในลักษณะกราฟดอกเบี้ยเช่นนั้นเลย เนื่องจากเชื่อว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะส่งผลให้เกิดรูปแบบกราฟเช่นนั้นได้ เช่น ผลต่างของดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวกับระยะสั้นที่ลดลงอาจเกิดได้จากการเข้าซื้อของธนาคารกลาง การดำเนินการของธนาคารกลางอาจทำให้กราฟดอกเบี้ยพันธบัตรผิดรูปไปได้เช่นกัน การเกิดกราฟเช่นนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007-2008 เป็นต้นมา และเมื่อผลต่างดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวกับระยะสั้นลดลงก็อาจทำให้เกิดกราฟแบบ inversion ได้บ่อยขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น นักลงทุนควรระมัดระวังมากขึ้น เพราะคุณอาจเพิกเฉยกับสัญญาณจากกราฟดอกเบี้ยพันธบัตรเอาได้ง่ายๆ หากว่าอนาคตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะยังคงแจ่มใสจริง แต่ในความเป็นจริงคือ ก่อนที่กราฟจะทำรูปแบบ inversion เช่นนี้ คณะกรรมการจากธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง หลายแห่งก็จำเป็นต้องนำนโยบายผ่อนปรนทางการเงินมาใช้เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางการเงิน รวมทั้งธนาคารกลางหลักๆ หลายแห่งอย่าง เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป ยังจะมีการนำมาตรการอื่นๆ มาใช้เพิ่มเติมในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้อีกด้วย ผู้จัดการพอร์ตและนักลงทุนยังมีประเด็นให้ต้องกังวลอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน, Brexit, การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง หรือแม้แต่ปัญหาด้านการเมืองในอิตาลี ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งดังกล่าวนี้อาจเป็นสาเหตุให้บางประเทศหรือหลายประเทศต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน ดังนั้นไม่ว่ากราฟดอกเบี้ยพันธบัตรจะยังเป็นแบบ inversion ไปอีกนานแค่ไหนก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็ยังสูงกว่าที่เคยมีมา
สำหรับผู้บริโภค อัตราการกู้ยืมจะลดลงแต่ตลาดหุ้นอาจร่วงหนักได้ นักลงทุนก็จะนำเงินจำนวนมากออกจากตลาดหุ้นไปสู่ตลาดพันธบัตรและจะนำไปสู่การปรับตัวลดลงของดัชนี ดาว และ S&P 500 ส่วนนักลงทุนในตลาดเงิน สกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง USD/JPY และ NZD/JPY จะได้รับผลกระทบหนัก ส่วนสกุลเงินที่จะได้รับประโยชน์ก็ยังจะเป็นสกุลเงินที่นิยมใช้ในการลงทุนอย่าง เยนญี่ปุ่น, ฟรังก์สวิส และอาจรวมถึง ยูโร ด้วยเช่นกัน
ตามที่เราเคยแจ้งไว้เมื่อต้นสัปดาห์ว่าสิ่งสำคัญยังหนีไม่พ้นเรื่องของความเสี่ยงและกระแสข่าวต่างๆ EUR/USD ยังร่วงต่อเนื่องแม้ว่า ข้อมูลจีดีพี ของยูโรโซนจะดีขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ GBP/USD ก็ยังทรงตัวแม้ว่า อัตราเงินเฟ้อ จะสูงขึ้นก็ตาม ข้อมูล ตัวเลขตลาดแรงงาน ของออสเตรเลียซึ่งมีกำหนดที่จะประกาศออกมาในช่วงเย็นวันพุธเป็นปัจจัยที่คาดหวังกันไว้อย่างมากว่าจะมีความสำคัญต่อการผลักดัน ดอลลาร์ออสเตรเลีย อย่างยั่งยืนได้หากตัวเลขออกมาแย่ลงกว่าเดิมก็จะทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดยังคงที่ต่อไป ยอดขายปลีกของ สหราชอาณาจักร และ สหรัฐฯ ก็มีกำหนดจะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้เช่นกัน และแม้ว่าการเติบโตของค่าจ้างจะดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่ตัวเลขยอดขายปลีกเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเบี่ยงเบนความเชื่อของตลาดออกจากเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดและเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอตัวลงได้