โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2019
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลให้แนวโน้มของตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ดังจะเห็นได้จาก USD/JPY ที่ยังคงอ่อนค่าอย่างมาก เนื่องจากในรอบแปดวันล่าสุดของการซื้อขายราคามีการปรับตัวลงถึงเจ็ดวันจนไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน การปรับลงของราคาในครั้งนี้เกิดจากการที่ตลาดมีความกังวล รวมทั้งความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไป และยังได้รับแรงหนุนจากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรปรับตัวลดลงและตลาดหุ้นที่มีการเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างเชื่อว่าสัมพันธภาพด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังดูย่ำแย่ลง ประกอบกับการพลิกผันของตลาดต่างๆ ในขณะนี้น่าจะทำให้ธนาคารกลางไม่มีทางเลือกอื่น นอกเสียจากจะต้องปรับลด อัตราดอกเบี้ย ลงอีกในเดือนหน้า หากพิจารณาจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะพบว่านักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงถึงสองครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแม้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ยอดขายปลีก จะดีขึ้นจนน่าตกใจ แต่ก็ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและการบริโภคน่าจะยังถูกจำกัดด้วยสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในขณะนี้มากกว่า ซึ่งก็เป็นความคิดที่ถูก เพราะหากยังมีการเทขายอย่างต่อเนื่องในตลาดต่อไป รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดทางสงครามทางการค้ายังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ รวมทั้งฐานะของผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบในเชิงลบตามไปด้วย ดังนั้นหาก ดอลลาร์ สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่นหรือฟรังก์สวิสได้หลังจากที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการถอยออกมามากกว่าที่จะพุ่งเข้าชน ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าซื้อ USD/JPY และ USD/CHF เนื่องจาก USD/JPY กำลังจะทะลุระดับ 105 ในอีกไม่ช้านี้
นอกจากนี้นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงดอลลาร์ ออสเตรเลีย และดอลลาร์ แคนาดา ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่า AUD/USD จะปรับตัวลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าตลาดยังค่อนข้างเชื่อมั่นไม่เต็มที่ว่าจะมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ลงอีกในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดอกเบี้ยนโยบายมีผู้เชื่อมั่นว่าจะมี โอกาส ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 จุดเบสิสภายในเดือนธันวาคมนี้เพียง 60% และเราเชื่อว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปรับลดดอกเบี้ยลงภายในเดือนตุลาคม เนื่องจาก RBA ทราบถึงความเสี่ยงของตลาดในปัจจุบันเป็นอย่างดีและเคยกล่าวว่าอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหากสถานการณ์ของตลาดแรงงานและภาวะเงินเฟ้อยังแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นการยากที่คณะกรรมการของธนาคารกลางจะโต้แย้งให้คงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ต่อไป ตัวเลขดัชนี ภาคบริการ และ ภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคมยังชะลอตัวลงค่อนข้างมาก และมีโอกาสสูงที่ ตัวเลขตลาดแรงงาน ในสัปดาห์นี้จะต่ำกว่าที่คาดไว้ เราจึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า RBA ไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง RBA เคยออกมายอมรับว่าหากธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ทั้งหมดปรับลดลงเหลือ 0 RBA ก็น่าจะต้องพิจารณาทำตามเช่นเดียวกัน แต่ก่อนที่ทุกธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยลงเหลือศูนย์ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ, ธนาคารกลางยุโรป และ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ อาจผลักดันให้ธนาคารกลางออสเตรเลียต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงต่ำกว่า 1% ยิ่งหากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกและตลาดยังคงย่ำแย่เช่นนี้ ดอลลาร์ออสเตรเลียจะมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อไปได้อีกโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและ เยนญี่ปุ่น
แคนาดา ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกันหลังจากที่มี รายงานตัวเลขการจ้างงาน ออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งตลาดหวังว่าตัวเลขอัตราการเติบโตในปริมาณการจ้างงานจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่การจ้างงานกลับปรับลดลง -24,200 ตำแหน่ง นับว่าเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2018 เป็นต้นมา ปริมาณการจ้างงานทั้งงานเต็มเวลาและงานนอกเวลาลดลง อัตราการว่างงาน เพิ่มขึ้นจาก 5.5% เป็น 5.7% ทำให้ USD/CAD ดีดตัวสูงขึ้นทันที แต่ก็ดิ่งลงแรงหลังจากเริ่มมีการเทขาย ดอลลาร์สหรัฐ ออกมาอีกครั้งเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้ว USD/CAD ก็กลับมาทรงตัวได้ แต่เราเชื่อว่าสกุลเงินคู่นี้น่าจะสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดีในการทำกำไรด้วยการขายดอลลาร์แคนาดาเทียบกับ เยนญี่ปุ่น และ สวิสฟรังก์