โดย Kathy Lien กรรมการผู้จัดการด้านกลยุทธ์ฟอเร็กซ์จาก BK Asset Management
ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์ประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2019
ไม่ว่า ดอลลาร์สหรัฐ จะตอบสนองไปกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไปในทิศทางใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หัวข้อการสนทนาในช่วงนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของโอกาสในการที่จะเกิดการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องเวลาที่จะเกิดขึ้นมากกว่า หากย้อนไปในวันที่ 2 มีนาคม มีคณะกรรมการ 2 คนที่เห็นด้วยให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปี 2019 และอีก 11 คนเห็นว่ายังไม่ควรเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีคณะกรรมการเพียง 1 คนที่เห็นควรให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่วนอีก 8 คนเห็นว่าควรปรับลดลงในปี 2019 สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อาจแย่ลงไปกว่าเดิมก็คือ 7 ใน 8 คนนี้เห็นว่าควรจะมีการปรับลดลงถึง 2 รอบ ด้าน นายบัลลาร์ด ประธานธนาคารกลางเซนต์หลุยส์ก็ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยลดลง 25 จุดเบสิสภายในวันพุธ
ดังนั้นเราจึงแทบไม่ต้องรอฟังความเห็นจาก นายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเรื่องท่าทีการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนเลย เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเมื่อดูจากการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นของคณะกรรมการเพียงอย่างเดียวก็พอจะทราบแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินการได้แล้ว อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวและความผันผวนก็กลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อการลงทุนในภาคธุรกิจเริ่มที่จะชะลอตัว แม้ว่าธนาคารกลางจะเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์จีดีพีของปี 2019 และปรับลด อัตราการว่างงาน ที่คาดการณ์ลงก็ตาม การดำเนินการต่อไปจึงน่าที่จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าการปรับเพิ่ม นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “อดทน” ใน แถลงการของคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีผู้คาดไว้ว่าน่าจะเป็นการใช้นโยบายในเชิงดุดัน แต่ในอีกไม่นานนี้ก็น่าที่จะเปลี่ยนไปเป็นนโยบายแบบประนีประนอมเสียมากกว่า นายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังออกมากล่าวอย่างเชื่อมั่นว่าตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่งและเชื่อว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจในอนาคตจะยังคงดีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามนายพาวเวลล์ยังกล่าวว่า “ความเสี่ยงในระยะสั้นยังอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” และหากว่ามีข้อมูลหรือความเสี่ยงใดๆ ที่ทำให้สถานการณ์เริ่มแย่ไปกว่าเดิม ก็จะมีเหตุผลเพียงพอให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายผ่อนปรนได้ทันที
ข้อมูล 6 อย่างที่ได้จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
-
ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติที่จะคงอัตราดอกเบี้ยเดิมเอาไว้และไม่ใช้คำว่า “อดทน” ในการแถลงนโยบาย
-
เป็นครั้งแรกที่การพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยจากคณะกรรมการจำนวน 8 คนจากทั้งหมด 17 คนเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (ในจำนวนคณะกรรมการ 8 คนดังกล่าว มีผู้เห็นควรให้มีการปรับลดดอกเบี้ย 2 รอบถึง 7 คน)
-
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนทางการค้าและภาคธุรกิจจะตกต่ำลงไปอีก
-
มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลง ตัวเลขจีดีพีจะดีขึ้น และอัตราการว่างงานจะลดลง
-
ปริมาณการจ้างงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว
-
แต่ธนาคารกลางยังคงรอดูและติดตามเรียนรู้จากข้อมูลที่จะมีเข้ามาในอนาคตเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นความเสี่ยงในภาพรวมระยะสั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลงทั้งกระดานหลังจากที่มี แถลงการณ์จากคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง (FOMC) รวมถึงการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตออกมา แต่ยังคงทรงตัวอยู่ได้หลังจากที่มีความคิดเห็นของนายพาวเวลล์ออกมาว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรีบใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินในช่วงนี้ นายพาวเวลล์กล่าวอย่างชัดเจนว่าธนาคารกลางกำลังอยู่ในช่วงเฝ้าติดตามสถานการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากแถลงการณ์ของ FOMC อย่างไรก็ตามก็ย่อมไม่เป็นผลดีกับเงินดอลลาร์อยู่วันยังค่ำ ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องรอดูสถานการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมสักระยะหนึ่งก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็คงใช้เวลาอีกไม่นาน โดยเฉพาะหากตัวเลขดัชนี CPI หรือ การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้ายังไม่ดีขึ้น เงินดอลลาร์ก็น่าจะปรับตัวลดลงอีกเมือเทียบกับ JPY, CHF และ CAD แต่ก็เมื่อเทียบกับ EUR, AUD และ NZD ก็น่าจะปรับลงไปไม่มากเท่าใดนัก เนื่องจากธนาคารกลางในประเทศเจ้าของสกุลเงินดังกล่าวก็มีท่าทีประนีประนอมคล้ายกัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ การประกาศนโยบายทางการเงิน ของธนาคารกลางอังกฤษในวันพฤหัสบดี ความคิดเห็นของธนาคารกลางอังกฤษนั้นแตกต่างจากธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เพราะไม่ได้มีท่าทีประนีประนอมเลย หลายฝ่ายยังคงกังวลว่าสหราชอาณาจักรจะตัดสินใจออกจากอียู แต่ยังมีบุคคลสำคัญหลายคนรวมถึง นายบรอดเบนท์ รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษและนายซอนเดอร์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการซึ่งมีความเห็นว่าควรมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้เร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งสอดคล้องกันกับความคิดเห็นที่ นายคาร์นีย์ ประธานธนาคารกลางอังกฤษเคยกล่าวไว้ เนื่องจากกรณีที่ธนาคารกลางอังกฤษ (รวมทั้งตัวเรา) ใช้อ้างอิงนั้นมีไว้เพื่อให้แยกตัวออกจากอียูได้อย่างราบรื่น จากข้อมูลในตารางด้านล่าง นับตั้งแต่มีการประชุมเชิงนโยบายเป็นต้นมา สภาวะเศรษฐกิจก็ยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน หากมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง เงินสเตอร์ลิงอาจไปแตะที่ระดับ 1.28 เมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ และ .88 เซ็นต์เมื่อเทียบกับ ยูโร อย่างไรก็ตามหากมีการดำเนินการตามแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยใช้นโยบายผ่อนปรนมากขึ้น GBP อาจดิ่งลงไปต่ำสุดในรอบปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร