โดย Detchana.K
Investing.com - ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แม้ปัจจัยจากภายนอกจะยังคงต้องจับตาดุการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่งทั้งสหรัฐ อังกฤษและญี่ปุ่น แต่เป็นที่น่าจับตาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองจะเริ่มมีผลต่อค่าเงินบาทมากขึ้นในช่วงนี้ โดยกรอบของสัปดาห์นี้อยู่ระหว่าง 31-31.40 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ติดตามรายละเอียดพร้อมประเด็นอื่นๆที่นักลงทุนไทยควรรู้สำหรับวันนี้
1.การเมืองในประเทศจะมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากขึ้น
เงินบาท USD/THB สัปดาห์นี้มีแนวโน้มซื้อขายในกรอบ 31.00-31.40 ต่อดอลลาร์ ตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางหลายแห่ง นําโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) วันที่ 15-16 ก.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) วันที่ 16-17 ก.ย. และธนาคารกลาง อังกฤษ(บีโออี) วันที่ 17 ก.ย. รวมถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) คนใหม่เพื่อดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และการหารือภายในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับแนวทางการแยกตัวออกจากอียู
นักลงทุนจะรอประเมินว่าเฟดจะให้ รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการปรับกรอบนโยบายไปสู่เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์โดยทั่วไปว่าเฟดจะปรับลดประมาณการดอกเบี้ย โดยส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอีกราว 3 ปี เป็นอย่างน้อย กรณีเฟดสื่อสารเพิ่มเติมอย่างมีนัยสําคัญเกี่ยวกับกรอบนโยบายใหม่รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอีซีบีอาจทําให้ตลาดผิดหวังเนื่องจากไม่ได้แสดงความกังวลอย่างชัดเจนต่อการ แข็งค่าของเงินยูโร แต่เรามองว่ายูโรที่แข็งค่าขึ้นได้เพิ่มแรง กดดันด้านเงินฝืดและอีซีบีอาจจําเป็นต้องดําเนินมาตรการ ผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต ขณะที่ความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit กลับมากดดันค่าเงินปอนด์อีกครั้ง ภาวะเช่นนี้อาจจํากัดแรงขายเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน
สําหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองจะมีน้ำหนักต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและ Sentiment ของ ค่าเงินบาทมากขึ้น แม้ภาพใหญ่จะยังคงถูกชี้นําโดยท่าทีของ เฟดและผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ในตลาดโลก
2. จำนวนสถานประกอบการกว่า 30% อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่องในปี 2564
ศูนย์วิจัยกรุงศรีให้ข้อมูลว่า จากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับความคืบหน้าของมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มียอดการให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาท จำนวน 12.5 ล้านบัญชี แบ่งเป็น (i) ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ที่มิใช่สถาบันการเงิน (NonBank) 4.3 ล้านล้านบาท จำนวน 6.1 ล้านบัญชี และ (ii) ลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2.9 ล้านล้านบาท จ านวน 6.4 ล้านบัญชีโดยครอบคลุมทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้การขยายเวลาชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดของธปท.คาดว่าจะมีลูกหนี้ในสัดส่วนสูงที่ไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ(ในเดือนตุลาคม 2563) และในระยะต่อไป ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลและแก้ไขปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายเป็นสำคัญ
แม้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ แต่ศักยภาพและความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ของลูกหนี้นับเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยังเพิ่มขึ้น การรักษาระยะห่างทางสังคมและมาตรการควบคุมการระบาดที่ยังดำเนินอยู่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะหดตัวรุนแรงในปี 2563 และอาจต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
จะฟื้นกลับคืนสู่ระดับก่อนการระบาด
ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศจึงย่อมได้รับผลกระทบผ่านหลายช่องทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาวล่าสุดวิจัยกรุงศรีได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับรายบริษัท พบว่าจำนวนสถานประกอบการที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องภายในปี 2564 อาจมีจำนวนถึง 143,414 แห่ง คิดเป็น 30.3% ของจำนวนสถานประกอบการ ทั้งหมดในไทยรวม 473,324 แห่ง ขณะที่อีก 132,980 แห่ง (28.1% ของทั้งหมด) จะมีความเปราะบางมากหรือเสี่ยงสูงต่อการขาดสภาพคล่อง และมีเพียง 32.6% ของทั้งหมด หรือ 154,318 แห่งเท่านั้นที่ถือว่ามีความเข้มแข็งทางการเงิน
3.นักลงทุนมองราคาทองใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาทองมีโอกาสย่อตัว
ศูนย์วิจัยทองคำเผยผลสำรวจ ระหว่าง 14 – 18 ก.ย. 63 โดย 14 ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำที่ได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจ ในจำนวนนี้มี 3 ราย หรือเทียบเป็น 21% คาดว่าราคาทองคำในสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 6 ราย หรือเทียบเป็น 43% คาดว่า ราคาทองคำ จะลดลง และ จำนวน 5 ราย หรือเทียบเป็น 36% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับนักลงทุนทองคำ ได้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 334 ราย ในจำนวนนี้มี 118 ราย หรือเทียบเป็น 35% คาดว่าราคาทองคำในประเทศของสัปดาห์นี้จะปรับเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 87 ราย หรือเทียบเป็น 26% คาดว่าราคาทองคำจะลดลง และ จำนวน 129 ราย หรือเทียบเป็น 39% คาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา
สถานการณ์ราคาทองคำในประเทศ ทองคำแท่ง 96.5% ตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 28,600 – 28,850 บาท ต่อบาททองคำ โดยราคาทองคำปิดอยู่ที่ระดับ 28,700 บาท ต่อบาททองคำ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า (สัปดาห์ก่อนหน้าปิดที่ 28,700 บาท)
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 15 - 16 กันยายน 2563 มีการประเมินว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในระดับต่ำต่อไป และการเลือกผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่น และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมทั้งติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด - 19 ในสหรัฐฯ