InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้ปิดตลาดที่ระดับ 32.75/76 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิด ตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 32.55/60 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทยังไร้ปัจจัยใหม่ เคลื่อนไหวในกรอบ 32.44 - 32.77 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียว กับสกุลเงินในภูมิภาค ทั้งนี้ ตลาดรอติดตามตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย. จาก ADP ของสหรัฐฯ คืนนี้ ซึ่งถ้าออกมาดี เงินบาทมีโอกาสอ่อน ค่าไปอีกได้ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ด้วย นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 32.30 - 33.00 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ - เงินเยน อยู่ที่ระดับ 144.28/29 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 143.68 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1067/1068 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1063/1084 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ 1,451.40 จุด ลดลง 13.26 จุด (-0.91%) มูลค่าซื้อขาย 57,926.56 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 5,414.36 ล้านบาท - ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ประชุม กกร. กล่าวว่า เตรียมทำจดหมายขอพบผู้ว่าการธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือประเด็นเรื่องค่าเงินบาท และการพิจารณาลดดอกเบี้ย เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่ม แรงกดดันต่อภาคการส่งออก ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแข็งค่าราว 12% มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กลายเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถใน การแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของ ปี อาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 1.8-2.5 แสนล้านบาท - กกร. อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดข้อเสนอในสมุดปกขาว โดยคาดว่าวันนี้จะได้ข้อสรุป และในวันพรุ่งนี้จะทำหนังสือขอ พบนายกรัฐมนตรี เพื่อจะนำเสนอต่อไป - ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงเกือบ 5% ซึ่งแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยเป็นผลจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนกันยายน นอกจาก นี้ ราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า รวมถึงการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการเลือกหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของญี่ปุ่น - ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เฝ้าระวังผลกระทบจากความผันผวนของตลาดและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกใน ระยะนี้ โดยเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยยืนยันมุมมองของ BOJ ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเข้าใกล้เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ในอีกไม่กี่ปีข้าง หน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ว่า BOJ ไม่ได้กล่าวย้ำถึงคำสัญญาล่าสุดของ BOJ ที่ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาด การณ์ไว้ แต่กลับเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ - ราคาบิตคอยน์ร่วงแตะแนว 60,000 ดอลลาร์อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางส่งผลให้ นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดทั่วโลก - นักลงทุนจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด หลังจากอิหร่านระดมยิงขีปนาวุธจำนวนมากโจมตี อิสราเอล เพื่อตอบโต้อิสราเอลที่สังหารผู้นำกลุ่มฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน