โดย Detchana.K
Investing.com - ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า
ตลาดการเงินเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดช่วงก่อนและหลัง วันหยุดของไทย ล่าสุดดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นต่อ 1.4% พร้อมกับดัชนี Nasdaq ที่ปิดตัว 9,682 จุด ซึ่งห่างจากระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 9,838 จุดเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนี้ ดัชนี Euro Stoxx 50 ของยุโรปก็ปรับตัวขึ้น 3.5% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
ด้านบอนด์ก็ยืนยันภาพตลาดที่อยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์สหรัฐและเยอรมันอายุ 10 ปีขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.75% และ -0.35% ตามลำดับ คิดเป็นการปรับตัวขึ้นกว่า 10bps จากช่วงสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ปรับตัวลง 1.7% มาที่ระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มทยอยลดสินทรัพย์ปลอดภัยและกลับเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นแล้ว
ทั้งหมดดูจะสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด สังเกตได้จากการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) ล่าสุดที่รายงานคนตกงานเพียง 2.8 ล้านตำแหน่ง จากที่คาดว่าจะมีคนตกงานในเดือนที่ผ่านมาถึง 9 ล้านตำแหน่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าการรายงานภาวะตลาดแรงงานในช่วงท้ายสัปดาห์ ก็น่าจะเป็นบวกกับมุมมองเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนี้เช่นกัน
ส่วนในฝั่งของตลาดเงินก็เคลื่อนไหวตามการอ่อนค่าของดอลลาร์เป็นหลัก ล่าสุดเงินยูโร (USD/EUR) ฟื้นตัวต่อเนื่องถึงระดับ 1.12 ยูโรต่อดอลลาร์ แม้เงินเยน (USD/JPY) จะอ่อนค่าขึ้นมาที่ระดับ 108 เยนต่อดอลลาร์ แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าการปรับตัวขึ้นเมื่อตลาดเปิดรับความเสี่ยงปรกติ กดดันให้ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 12 สัปดาห์ และแนวโน้มนี้น่าจะได้รับแรงหนุนต่อจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดว่าจะมีข้อตกลงร่วมในการอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สวนทางกับในสหรัฐที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาจลาจลในประเทศได้
ดูอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั่วโลก https://th.investing.com/currencies/
อย่างไรก็ดี เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าจนชนแนวรับหลักที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ USD/THBกลับพบกับแรงขายระยะสั้นและมีแรงซื้อเก็งกำไรสวนกลับขึ้นมา จึงอาจไม่เห็นเงินบาทเคลื่อนไหวตามสกุลเงินเอเชียมากนัก ส่วนในระยะยาว ต้องจับตาทิศทางของเงินทุนต่างชาติว่าจะเริ่มกลับมาลงทุนในไทยจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และดอลลาร์ที่อ่อนค่าหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นกลไกหลักที่สามารถกดดันให้เงินบาทแข็งค่ากลับไปในระดับเดียวกับก่อนวิกฤติโคโรนาไวรัสได้
ดูกราฟค่าเงินบาทล่าสุด https://th.investing.com/currencies/usd-thb
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)