InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (25 มิ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.13% แตะที่ระดับ 105.608
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 159.67 เยน จากระดับ 159.64 เยนในวันจันทร์ (24 มิ.ย.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8945 ฟรังก์ จากระดับ 0.8929 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3656 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3652 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0716 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0736 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2694 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2691 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากนางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเธอเปิดกว้างต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
"หากข้อมูลที่เข้ามาบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายของเราที่ 2% อย่างยั่งยืน ก็จะเป็นการเหมาะสมสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อป้องกันไม่ให้นโยบายการเงินอยู่ในภาวะเข้มงวดเกินไป อย่างไรก็ดี เรายังไปไม่ถึงจุดที่มีความเหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย" นางโบว์แมนกล่าวดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ซึ่งระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 7.5% ในเดือนมี.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 100.4 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 101.3 ในเดือนพ.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100.0
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. แต่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนปรับตัวลง
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 5.3% จากระดับ 5.4% ในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)