InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (8 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ หรืออาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 105.0866 และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 147.8240 เยนในวันศุกร์ (8 ก.ย.) จาก 147.1700 เยนในวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 0.8933 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.8928 ฟรังก์สวิส แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 1.3643 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3682 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 11.1251 โครนาสวีเดน จากระดับ 11.1429 โครนาสวีเดน
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0698 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) จากระดับ 1.0695 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2453 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2470 ดอลลาร์สหรัฐ
บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธที่ 13 ก.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้
บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนเชื่อว่า ข้อมูลเศรษฐกิจเชิงบวกจากสหรัฐในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ช่วยหนุนดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ส่วนนักวิเคราะห์ของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า "เรายังคงเชื่อมั่นในเชิงบวกสำหรับดอลลาร์ในระยะสั้น แม้มีมูลค่าสูงเกินไปแล้วก็ตาม"
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีซึ่งยังคงทรงตัวในเดือนส.ค.เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยดัชนี CPI ทั่วไปอยู่ที่ระดับ 6.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดัชนี CPI พื้นฐานทรงตัวที่ 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี