InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน และอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ระดับ 105.0588
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8928 ฟรังก์ จากระดับ 0.8915 ฟรังก์ในวันพุธ (6 ก.ย.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3682 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3653 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.1429 โครนา จากระดับ 11.1229 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 147.1700 เยน จากระดับ 147.6910 เยน
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0695 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0725 ดอลลาร์ในวันพุธ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2470 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2505 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 13,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนหรือนับตั้งแต่เดือนก.พ. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 234,000 ราย
หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว นักลงทุนให้น้ำหนัก 45.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 37.1% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ 28.6% เมื่อเดือนที่แล้ว
ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลง หลังจากนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของ BoE ใกล้แตะระดับสูงสุดของวัฏจักรปัจจุบันแล้ว
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐ ในวันพุธที่ 13 ก.ย.นี้ เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 ก.ย.