InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (28 มิ.ย.) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ระดับ 102.9122
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.3170 เยน จากระดับ 144.0130 เยน ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8965 ฟรังก์ จากระดับ 0.8931 ฟรังก์, แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3254 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3182 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.7726 โครนา จากระดับ 10.7178 โครนา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0922 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0960 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2648 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2751 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากนายพาวเวลกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่ประเทศโปรตุเกสเมื่อวานนี้ว่า เขาไม่คิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดในปีนี้หรือปีหน้า และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาก็พบว่า เศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวมากกว่าคาด และเงินเฟ้อสูงกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่า แม้นโยบายที่เฟดใช้มีความเข้มงวด แต่ก็อาจจะยังเข้มงวดไม่เพียงพอ และยังใช้เวลานานไม่เพียงพอ
ในระหว่างการเสวนา มีผู้ตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งเว้นครั้ง หลังจากที่ได้พักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้หรือไม่ ซึ่งนายพาวเวลตอบว่า "สิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ แต่ผมไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกัน"
ถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นายพาวเวลกำลังส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน เพื่อสกัดเงินเฟ้อและชะลอความร้อนแรงของตลาดแรงงาน โดยการประชุมเฟดครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 25-26 ก.ค. และจากนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 ก.ย.
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนพ.ค.
ส่วนในวันพรุ่งนี้ สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)