InfoQuest - นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.03/04 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ เปิดตลาดที่ระดับ 35.07 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.98 - 35.15 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันยังไม่มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติม เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคนิ่งๆ สำหรับปัจจัยเมื่อคืนที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ไม่มีถ้อยแถลงใหม่ รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่ออกมาไม่ได้มีนัยสำคัญต่อตลาดมาก ทั้งนี้ ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และตัวเลขจ้างงาน นอกภาคเกษตรเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90 - 35.15 บาท/ดอลลาร์
* ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 136.23/24 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 137.08 เยน/ดอลลาร์ - เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0557/0561 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0542 ดอลลาร์/ยูโร - ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,614.22 จุด เพิ่มขึ้น 1.62 จุด (+0.10%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 59,540.43 ล้านบาท - สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,335.98 ลบ. (SET+MAI) - เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างชัดเจนและเร็วกว่าที่คิดไว้โดยปัจจัยดัง กล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการส่งออกและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3% โดยมองว่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป - มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เริ่มมีการคาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่า เพราะดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่ง ผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า และการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ดัง นั้น จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการท่องเที่ยวพยุงการส่งออกได้ทันนั้น จึงถือเป็นจุดเสี่ยง ของไทย - รมว.คลัง ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% โดยหลังจากนี้จะต้องดูข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเดือน มี.ค. และเม.ย. ก่อนจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า (14 มี.ค.) เพื่อพิจารณา ประกาศให้การฟื้นประเทศด้วยการยกท่องเที่ยวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ - ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.66 อยู่ที่ ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี นับ ตั้งแต่ที่ประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 63 - ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขต หรือ Beige Book ในวันพุธ (8 มี.ค.) โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนม.ค. จนถึงปลายเดือนก.พ. ขณะที่แรงกดด้านเงินเฟ้อยังคงขยายตัว เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี ธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ของสหรัฐคาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาผู้บริโภคนั้น จะปรับตัวขึ้นไม่มาก นักในปีนี้ - ผู้นำสหรัฐเตรียมเสนอแผนปรับขึ้นภาษีเงินเดือนของชาวสหรัฐที่มีรายได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์ต่อปี และเปิดทางให้ รัฐบาลมีอำนาจใหม่ในการต่อรองราคายา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ทำเนียบขาวระบุว่า จะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระ หนี้ (solvency) ของโครงการประกันสุขภาพที่สำคัญของสหรัฐ (Medicare) ต่อไปได้อีก 25 ปี - สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นปรับลดการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 โดยระบุว่า GDP ขยายตัวเพียง 0.1% ลดลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัว 0.6% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ว่าจะขยายตัว 0.8% เนื่องจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนชะลอตัวลงมากกว่าที่มีการประเมินไว้เบื้องต้น - สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นมีมติรับรองนายคาซูโอะ อุเอดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ ต่อจาก นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ และหลังจากนั้น วุฒิสภาญี่ปุ่นจะทำการลงมติเพื่อให้การรับรองนายอุเอดะในวันศุกร์นี้