Investing.com -- 5 ประเด็นที่คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดการเงินโลกในปี 2020 มีดังต่อไปนี้
1. การแย่งชิงอำนาจทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังไม่มีแววว่าจะยุติ
สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลกตลอดปี 2019 นี้คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันตลาดต่อไปในปี 2020 ด้วย
กองทุนการเงินระะหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมว่า ภาษีศุลกากรที่มีการเรียกเก็บจากทั้งสองฝ่ายรวมทั้งปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า คิดเป็น 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทั่วโลก
ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่รุนแรงเท่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะหลังจากที่การเจรจาทางการค้ามีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจีนได้ตกลงสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับการปรับลดภาษีศุลกากรจีนบางรายการจากสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดการพิธีลงนามอย่างแน่ชัด และทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ออกมาเผยแพร่ร่างข้อตกลงทางการค้าฉบับนี้ แต่การลดภาษีศุลกากรของรัฐบาลจีนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะมีการลงนามเกิดขึ้นจริงในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้
ถึงแม้จะมีการลงนามทางการค้าเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ก็จะยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งนี้สถานการณ์น่าจะยังราบรื่นดีตราบใดที่จีนยังคงให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาล ทว่าประเด็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น ๆ อาทิ ฮ่องกง เกาหลีเหนือ และไต้หวัน อาจปะทุขึ้นมาอีกได้ทุกเมื่อ
2. การเลือกตั้งปีหน้าจะสร้างแรงกดดันระยะยาวแก่เฟด
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าจะเป็นแรงกดดันหลักต่อเฟดในระยะยาว
ผลสำรวจความคิดเห็นหลายแห่งเชื่อว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่จะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง (สมมติว่าเขารอดพ้นจากกระบวนการถอดถอนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้) ซึ่งจะถือเป็นระยะเวลาอีกสี่ปีที่นโยบายทางการค้าและนโยบายด้านงบประมาณของประเทศจะเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาด และเฟดจะต้องคอยรองรับผลกระทบที่ตามมาจากนโยบายเหล่านั้นไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้าย
ขณะนี้ เครื่องมือติดตามอัตราดอกเบี้ยเฟด ของ Investing.com ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยเมื่อถึงสิ้นปี 2020 น่าจะคงเดิมที่ระหว่าง 1.50%-1.75% แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าปธน.ทรัมป์จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ อย่างไรตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีหน้า
หากปธน.ทรัมป์เลือกที่จะเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งทางการค้า อัตราเงินเฟ้อก็น่าจะสูงขึ้นท่ามกลางตลาดแรงงานที่ตึงตัวและการขาดดุลงบประมาณ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ทว่าในทางตรงกันข้าม หากปธน.ทรัมป์ต้องการสร้างกระแสในหมู่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยการกระทำที่รุนแรงต่อประเทศจีน (หรือสหภาพยุโรป, เม็กซิโก, แคนาดา หรือที่อื่นใดก็ตาม) เฟดก็อาจต้องลดอัตราดอกเบี้ย 'เพื่อความปลอดภัย' อีกครั้ง
ปัจจุบันเครื่องมือติดตามอัตราดอกเบี้ยเฟดของ Investing.com เล็งเห็นความเป็นไปได้รองลงมาว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 25 จุดในปี 2020
3. กาลครั้งหนึ่งในฮอลลิวูด
ลืม Star Wars ไปได้เลย เพราะปี 2020 จะเป็นปีแห่งสงครามของผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง
ปีหน้าจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการป้องกันตำแหน่งของบริษัทผู้บุกเบิกตลาดสตรีมมิ่ง Netflix (NASDAQ:NFLX) (NASDAQ:NFLX) ซึ่งขณะนี้มีจำนวนสมาชิกเกือบถึง 160 ล้านรายทั่วโลกและเป็นบริการแรกที่ผู้คนมักจะนึกถึงเมื่อกล่าวถึงบริการสตรีมมิ่งวิดีโอ
ทว่าบริษัทอาจถูกโค่นตำแหน่งลงจากคู่แข่งที่มีเงินทุนหนาอย่าง Apple (NASDAQ:AAPL) (NASDAQ:AAPL) และ Walt Disney (NYSE:DIS) ที่เพิ่งเปิดตัวบริการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยบริการของ Disney ที่จัดผังรายการโดยเน้นการถ่ายทอดสดการแข่งกีฬาเป็นหลักน่าจะเป็นคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เห็นได้จากที่ซีอีโอของบริษัท นาย Bob Iger ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีจำนวนสมาชิกถึง 90 ล้านรายในปี 2024 และเพียงแค่วันแรกก็มีผู้สมัครสมาชิกแล้วถึง 10 ล้านราย
Comcast (NASDAQ:CMCSA) และ AT&T (NYSE:T) จะเข้าร่วมสังเวียนในปีหน้า ส่วน Peacock ของ NBCUniversal จะเปิดตัวในเดือนเมษายนและ HBO Max ของ WarnerMedia จะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม และเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น ๆ ของตลาดที่ Amazon.com (NASDAQ:AMZN) จะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งอีกราย
ข่าวดีก็คือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เล็งเห็นว่ายังมีพื้นที่ในตลาดเหลืออยู่มากสำหรับผู้ให้บริการอีกหลายราย แต่ข่าวที่ไม่ค่อยดีนักคือไม่มีใครทราบว่าระดับราคาเท่าใดที่จะทำให้พื้นที่ในตลาดดังกล่าวหดตัวลง
4. ตลาดน้ำมันมีแววอุปทานเกิน
ตลาดน้ำมันมีอุปสรรครอคอยอยู่ในช่วงต้นปี 2020 เนื่องจากการเติบโตของตลาดน้ำมันโลกที่ชะลอตัวลงยังคงทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตเร็วกว่าอุปสงค์
ในต้นเดือนนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรอย่างรัสเซียได้มีการตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันมากกว่าเดิมในอัตรา 500,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้เทรดเดอร์หลายท่านเชื่อมั่นว่าอุปทานน้ำมันจะยังไม่เกินในเร็ว ๆ นี้ แต่ถึงกระนั้นสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ก็ได้ออกมาชี้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกอาจขยายตัวขึ้นในอัตราถึง 700,000 บาร์เรลต่อวันในไตรมาสแรกของปีหน้า
ประเด็นดังกล่าวได้แสดงออกมาในผลคาดการณ์ของสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ที่คาดว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสในปีหน้าจะมีราคาเฉลี่ยสูงกว่า $55 ต่อบาร์เรลเพียงเล็กน้อย และ $60.51 ต่อบาร์เรลสำหรับราคาของ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์
อ้างอิงจากผลคาดการณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า การเติบโตของกำลังการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 900,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า ลดลงมาจากปีนี้ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันและเมื่อปี 2018 ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเป็นปีแรกในระยะเวลาอย่างน้อยสามปีที่สหรัฐฯ จะไม่สามารถรองรับอุปสงค์น้ำมันโลกได้ด้วยตนเอง โดย IEA คาดว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2020
5. ปัญหาทางการค้าฝั่งยุโรป
ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการค้าจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจยุโรปต่อไป ทำให้ธนาคารกลางยุโรปยังไม่สามารถยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบได้และจึงเป็นแรงกดดันแก่ความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารในฝั่งยุโรป รวมทั้งเป็นแรงกดดันต่อ ค่าเงินยูโร ในตลาดการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศด้วย
ขณะนี้ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการค้าอยู่มาก ภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจีนที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อการลงทุนภาคธุรกิจในทั้งสองประเทศ รวมถึงการส่งออกสินค้าของยูโรโซนด้วย ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่าสหภาพยุโรปจะเป็นเป้าหมายการโจมตีทางการค้าของสหรัฐฯ รายต่อไปหากรัฐบาลของปธน.ทรัมป์สงบศึกกับจีนล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ
และสุดท้ายคือประเด็นการยุติความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปสิ้นเดือนมกราคมนี้ และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ได้ส่งสัญญาณว่าเขาต้องการทำข้อตกลงทางการค้าก่อนสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นเส้นตายของข้อตกลงการถอนตัวที่นายจอห์นสันได้กำหนดไว้ ดังนั้นปีหน้าจึงอาจมีการเจรจาเพิ่มเติมหรือมีการทำข้อตกลงทางการค้าทีละขั้นตอน เพื่อป้องกันอุปสรรคทางการค้าและอุปสรรคด้านกระแสการเงินของทั้งสองฝ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเสี่ยงจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะยังคงเป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นและอุปสงค์ รวมทั้งแรงกดดันต่อ ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง ที่จะไต่ขึ้นมาได้อย่างยากลำบากหลังจากขาขึ้นของไตรมาสที่แล้ว