Investing.com - สิ่งที่คุณควรทราบในสัปดาห์นี้มีดังต่อไปนี้
1. การเจรจาทางการค้า
สหรัฐฯ และจีนได้ตกลงกันเมื่อวันเสาร์ว่าจะดำเนินการเจรจาทางการค้าใหม่อีกครั้ง โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอที่จะผ่อนปรนด้วยการไม่ขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่ และลดหย่อนข้อจำกัดต่อบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Huawei เพื่อลดความขัดแย้งทางการค้ากับจีน
ทั้งนี้ยังไม่มีการกำหนดเส้นตายในการสร้างข้อตกลงและทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้บางเรื่อง สืบเนื่องมาจากการเจรจาที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเมื่อเดือนพฤษภาคม
ที่ผ่านมาทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่าย และทำท่าจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดิมทีก็เชื่องช้าอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นภาษีศุลกากรที่ได้เรียกเก็บไปแล้วก็จะยังคงเดิมในระหว่างที่การเจรจาทางการค้าดำเนินต่อไป
2. ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
รายงานตลาดแรงงานประจำเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งหน้าเดือนกรกฎาคม
คาดว่าตลาดแรงงานเดือนมิถุนายนจะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นมา 164,000 ตำแหน่ง ขณะที่ เครื่องมือติดตามอัตราดอกเบี้ยเฟด ชี้ว่ามีโอกาสถึง 100% ที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงไปราว 25 จุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
ถึงกระนั้นผู้ลงทุนก็อาจตีตนไปก่อนไข้เสียเองก็เป็นได้ เนื่องจากประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ ก็ได้ออกมาปัดแรงกดดันต่อการลดอัตราดอกเบี้ยออกไปให้พ้นตัว และภาพรวมทางเศรษฐกิจในขณะนี้ก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง เห็นได้จากอัตราว่างงานล่าสุดที่ 3.6% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ และคาดว่าในเดือนมิถุนายนอัตราว่างงานก็จะยังคงเดิมอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ในปฏิทินเศรษฐกิจสัปดาห์นี้จะมีการรายงานตัวเลข ภาคการผลิต และ ภาคกิจการบริการ ล่าสุดจากสถาบันการจัดการอุปทานสหรัฐฯ รวมถึง ยอดคำสั่งซื้อโรงงาน และ ดุลการค้า อีกด้วย
3. เฟดให้คำกล่าว
รองประธานเฟด นายริชาร์ด คลาริดา มีกำหนดการให้คำกล่าวในวันนี้ โดยเมื่อต้นเดือนเขาได้กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมตัวที่จะลดอัตราดอกเบี้ยหากมีความจำเป็น แต่ก็ได้เน้นย้ำว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะนี้ยังคงเป็นไปในแง่บวก
ประธานเฟดประจำนิวยอร์ค นายจอห์น วิลเลียมส์ มีกำหนดการร่วมอภิปรายแบบหมู่คณะเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และภาพรวมนโยบายทางการเงินในวันพรุ่งนี้ที่กรุงซูริค
ประธานเฟดประจำคลีฟแลนด์ นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ มีกำหนดการให้คำกล่าวในวันพรุ่งนี้เช่นกัน
4. การประชุมโอเปก
กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกจะรวมตัวกันที่กรุงเวียนนาในวันนี้ และประชุมกับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในเครือโอเปกหรือที่รู้จักกันในนามโอเปก+ ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือกันเรื่องการยืดเวลาข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตด้วยอัตรา 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งข้อตกลงฉบับล่าสุดมีกำหนดการสิ้นสุดในวันอาทิตย์นี้
ทว่าการแถลงการณ์ของประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวานนี้ว่าเขากับเจ้าชายโมฮัมเม็ด บิน ซัลมาน จากซาอุฯ ได้ตกลงกันแล้วว่าจะยืดเวลาข้อตกลงการลดกำลังการผลิตฉบับปัจจุบัน ทำให้ดูเหมือนว่าการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างที่จะไม่จำเป็นสักเท่าไรนัก
นอกจากนี้ตลาดก็ยังถกเถียงกันถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากผลการพิจารณาของการประชุมครั้งนี้อีกด้วย เพราะข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ ล่าสุดได้ระบุว่า กำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เคยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2018 และกำลังมุ่งหน้าขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำสถิติครั้งใหม่ กลับกลายเป็นการชดเชยกำลังการผลิตน้ำมันของโอเปกเสียอย่างนั้น
อย่างไรก็ดี ราคา สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ได้ทะยานขึ้นมาแล้วมากกว่า 25% นับตั้งแต่ต้นปี แต่ขณะนี้ราคาก็ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่าราคาสูงสุดที่เคยทำได้ในปี 2018
5. ดัชนี PMI ของสหราชอาณาจักร
ผลสำรวจจาก ภาคการผลิต, ภาคกิจการบริการ และ ภาคการก่อสร้าง ของสหราชอาณาจักรจะเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองว่าจะออกมาซบเซาหรือไม่ ซึ่งจะลดแนวโน้มที่ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
สาเหตุส่วนใหญ่ของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนั้นมาจากความอ่อนแอในภาคการผลิต เนื่องจากตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตอังกฤษกำลังอ่อนแอลง และบรรดาบริษัทต่าง ๆ ก็พากันตุนสินค้าเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ Brexit แบบไม่มีข้อตกลงอีกด้วย
ING ให้ความเห็นไว้ว่า “ครั้งนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตน่าจะออกมาต่ำกว่า 50 อีกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ในภาคกิจการบริการก็ไม่ได้ดูดีไปกว่ากันสักเท่าไร และเนื่องจากความสุ่มเสี่ยงของ Brexit กำลังจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งในช่วงฤดูร้อนนี้ ฉะนั้นเราจึงเชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษคงไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้”
--เนื้อหาข่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวรอยเตอร์