โดย Barani Krishnan
Investing.com - ราคาทองคำกลับมายืนเหนือระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันอังคารนี้ เนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) ในเดือนสิงหาคม ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่คาดไว้ คลายความกังวลของนักลงทุนบางส่วนที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะใช้มาตรการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ราคาทองคำ ในตลาด Comex ของนิวยอร์ก ปรับขึ้น $12.70 หรือ 0.7% ที่ 1,807.10 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนไหวระหว่าง 1,783.35 ถึง 1,810.65 ดอลลาร์
ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 5.3% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยลดลงจากการเติบโตของเดือนกรกฎาคมที่ 5.4% ตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าจะไม่เพียงพอในการป้องกันธนาคารไม่ให้เริ่มลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ช่วยคลายความกังวลบางอย่างเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังเป็นการยืนยันว่าแรงกดดันด้านราคาที่เห็นตั้งแต่ต้นปีจะคลี่คลายลงในไตรมาสที่สี่
เอ็ด โมย่า นักวิเคราะห์จากแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ OANDA กล่าวว่า “ดัชนีราคาผู้บริโภคกำลังชะลอตัว และนั่นน่าจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับทองคำในระยะสั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยลดลง” “หลังจากที่ตัวเลข CPI ของเดือนสิงหาคมออกมา ทองคำน่าจะมีโมเมนตัมเพียงพอที่จะทรงตัวเหนือระดับ 1800 ดอลลาร์ แต่ถ้ายืนเหนือราคาดังกล่าวไม่ไหว ราคาทองคำอาจจะแย่กว่าที่คิด”
คำถามว่าเมื่อใดที่เฟดควรจะลดมาตรการกระตุ้นและเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ได้มีการถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขัดแย้งกับการฟื้นตัวของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ประธานธนาคารกลาง เจอโรม พาวเวลล์ จะจัดแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีหลังจากการประชุมนโยบายรายเดือนสิ้นสุดลง
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดและนโยบายการเงินอื่น ๆ กลายเป็นแพะรับบาปสำหรับแรงกดดันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางได้ซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์อื่น ๆ มูลค่ารวม 120,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2020 เพื่ออุ้มเศรษฐกิจไว้ นอกจากนี้ยังรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับแทบเป็นศูนย์ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา
หลังจากที่ลดลง 3.5% ในปี 2020 จากการปิดตัวของธุรกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ โดยขยายตัว 6.5% ในไตรมาสที่สอง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารกลาง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของธนาคารกลางคือเงินเฟ้อ ซึ่งแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ
มาตรวัดที่ต้องจับตาสำหรับธนาคารกลางคือเงินเฟ้อ - ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลหลัก ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน - เพิ่มขึ้น 3.6% ในปีจนถึงเดือนกรกฎาคม สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2534 ดัชนี PCE รวมถึงพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
เป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางคือ 2% ต่อปี