InfoQuest - ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2,550 ดอลลาร์ ขานรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ซึ่งส่งสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ณ เวลา 21.17 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. บวก 5.10 ดอลลาร์ หรือ 0.2% สู่ระดับ 2,551.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ขณะเดียวกัน นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ รวม 1.00% โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ย., 0.50% ในเดือนพ.ย. และ 0.25% ในเดือนธ.ค. หลังการกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวล
ในการกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว นายพาวเวลได้ปูทางสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ แม้ว่าไม่มีการระบุถึงกำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น
"เวลาได้มาถึงแล้วสำหรับการปรับนโยบาย โดยทิศทางมีความชัดเจน ส่วนกำหนดเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามา รวมทั้งแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป และดุลความเสี่ยง" นายพาวเวลกล่าวนักลงทุนตีความว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวลเป็นการสื่อว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้ และครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. เฟดมีมติเอกฉันท์ในการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี โดยเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือในปีนี้ ในเดือนก.ย.,พ.ย. และธ.ค.
ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. โดยแบ่งเป็นให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนัก 34.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00%
ส่วนในการประชุมเดือนพ.ย. นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.50-4.75%
นอกจากนี้ ในการประชุมเดือนธ.ค. นักลงทุนให้น้ำหนัก 43.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50%
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนมิ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. จากระดับ 0.1% ในเดือนมิ.ย.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือนมิ.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนมิ.ย.