InfoQuest - สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (1 เม.ย.) ขานรับความหวังที่ว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐและจีนจะเป็นปัจจัยหนุนอุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากแนวโน้มอุปทานน้ำมันตึงตัว อันเนื่องมาจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส และการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในรัสเซีย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 83.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 87.42 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมัน WTI ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2566 หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1 โดยดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของจีน เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.8 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.1 ในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.9
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ตลาดได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันจะอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายลดกำลังการผลิต และผลกระทบจากการที่ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในรัสเซีย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ในวันนี้ ก่อนที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการในวันพุธ