ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (16 ก.ย.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากการเตือนของบริษัทเฟดเอ็กซ์เกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,822.42 จุด ลดลง 139.40 จุด หรือ -0.45%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,873.33 จุด ลดลง 28.02 จุด หรือ -0.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,448.40 จุด ลดลง 103.95 จุด หรือ -0.90%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 4.1%, ดัชนี S&P500 ร่วง 4.8% และดัชนี Nasdaq ร่วงลงราว 5.5%
ดัชนีหุ้นทั้งสามตัวปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือนก.ค. โดยดัชนี S&P 500 ปิดลดลงต่ำกว่าระดับ 3,900 ซึ่งเป็นระดับแนวรับสำคัญ ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มอุตสาหกรรม ร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด และดัชนีดาวโจนส์กลุ่มการขนส่ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ ร่วงลง 5.1% นำโดยหุ้นเฟดเอ็กซ์ซึ่งร่วงลง 21.4% และร่วงลงมากที่สุดในดัชนี S&P500
หุ้นยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส หรือยูพีเอส และหุ้นเอ็กซ์พีโอ โลจิสติกส์ ร่วงลง 4.5% และ 4.7% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นแอมะซอน.คอม อิงค์ ร่วงลง 2.1%
ตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 20-21 ก.ย.นี้
การที่บริษัทเฟดเอ็กซ์ คอร์ป ยกเลิกการคาดการณ์ผลประกอบการทั้งปีเมื่อวันพฤหัสบดี โดยระบุถึงสัญญาณของอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัวลงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายด้วย ขณะที่ตลาดถูกกดดันอยู่แล้วจากความเห็นของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เตือนเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ตลาดยังปรับตัวลงหลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้
ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินปรับตัวรับโอกาส 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมากถึง 1% ในวันพุธหน้า
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 58.6 ในเดือนส.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 60.0
ราคาหุ้นของบริษัทเฟดเอ็กซ์ คอร์ป ซึ่งถือเป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทให้บริการจัดส่งเอกสาร พัสดุ และสินค้าระหว่างประเทศ ดิ่งลงอย่างหนักในวันนี้ หลังบริษัทเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ
ราคาหุ้นเฟดเอ็กซ์ร่วงลง 21.4% สู่ระดับ 162 ดอลลาร์
นายราช สุบรามาเนียม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟดเอ็กซ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ เฟดเอ็กซ์ประกาศยกเลิกการให้ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการประจำปีนี้ พร้อมกับเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้บริษัทมีรายได้ต่ำกว่าคาดถึง 500 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เฟดเอ็กซ์ประกาศมาตรการลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ โดยลดจำนวนเที่ยวบินขนส่งสินค้า และจะปิดสำนักงานจำนวน 90 แห่ง รวมทั้งเลื่อนการจ้างพนักงานใหม่ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป
ด้านธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในไตรมาส 3 ขณะที่บางประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566
ธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอย เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
รายงานเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยูโรโซนได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า
นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ธนาคารกลางต่างๆจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลง นอกเหนือจากที่ปรับขึ้นแล้ว 2% ก่อนหน้านี้ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นดังกล่าวท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดการเงินจะฉุดให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกลดลงสู่ระดับ 0.5% ในปี 2566 ขณะที่รายได้ต่อหัวจะหดตัวลง 0.4% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าเกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค
ธนาคารโลกเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวหนักที่สุดหลังจากที่ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่ปี 2513 และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ดิ่งลงหนักกว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยก่อนหน้านี้
นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง และคาดว่าเศรษฐกิจของบางประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะลุกลามเป็นวงกว้างทั่วโลก
นายไรซ์กล่าวว่า มีข้อมูลจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแรงลงในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรวมถึงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการที่หลายประเทศหันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงสู่ระดับ 3.2% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือ 2.9% ส่วนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่นั้น จะมีการเปิดเผยในเดือนหน้า
นายไรซ์กล่าวว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น กำลังสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ขณะที่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน
"เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน เราคาดว่า เศรษฐกิจในบางประเทศจะเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะลุกลามไปทั่วโลกหรือไม่
"ในทางเทคนิคนั้น ต่อให้บางประเทศไม่ได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ประชาชนจำนวนมากทั่วโลกก็รู้สึกได้ว่า พวกเขากำลังเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งความอดอยากหิวโหยพุ่งขึ้นถึง 1 ใน 3 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากถึง 123 ล้านคน" นายไรซ์กล่าว
ตลาดวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ในวันศุกร์ที่ผ่านมา และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.884% หลังพุ่งเหนือระดับ 3.9% ก่อนหน้านี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.451% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.485%
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการควบคุมเงินเฟ้อ และการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้
นายพาวเวลกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น โดยเฟดจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐ
"เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าภารกิจของเราจะประสบความสำเร็จ โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาจะทำให้เกิดผลกระทบมากกว่า" นายพาวเวลกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการใช้มาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 58.6 ในเดือนส.ค.แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 60.0
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 4.8% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2564
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลง 1.6% ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) เนื่องจากการเตือนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้าได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขาย
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 408.24 จุด ลดลง 6.54 จุด หรือ -1.58% และปรับตัวลง 2.9% ในสัปดาห์นี้รุนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,077.30 จุด ลดลง 80.54 จุด หรือ -1.31%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,741.26 จุด ลดลง 215.40 จุด หรือ -1.66% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,236.68 จุด ลดลง 45.39 จุด หรือ -0.62%
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง ยกเว้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มเฮลท์แคร์ และกลุ่มการเงิน ร่วงลงมากที่สุด
หุ้นกลุ่มไปรษณีย์และกลุ่มโลจิสติกส์ ร่วงลง หลังบริษัทเฟดเอกซ์ คอร์ปของสหรัฐถอนการคาดการณ์ผลประกอบการปีหน้า ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงทั่วโลก
หุ้นดอยซ์โพสต์และหุ้นรอยัล เมล์ ร่วงลงราว 4-8%
ธนาคารโลกเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากธนาคารกลางต่าง ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในไตรมาส 3 ปีนี้
หุ้นยูนิเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าก๊าซของเยอรมนี ร่วงลง 1.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียหยุดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 เมื่อต้นเดือนนี้
ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวลง 1.7% แล้วในเดือนก.ย. และมีแนวโน้มติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงวิกฤตด้านพลังงานและค่าครองชีพในยุโรป
บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 หลังปรับขึ้นแล้ว 2.25% ในปีนี้
นายหลุยส์ เดอ กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เอ็กซ์เพรสโซของโปรตุเกสว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอยของยูโรโซนนั้นยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อ โดย ECB จะต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป
"เศรษฐกิจชะลอตัวเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ" นายกวินโดสกล่าวในวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.ย.)
"เศรษฐกิจชะลอตัวจะช่วยลดแรงกดดันด้านอุปสงค์ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องดำเนินการด้านนโยบายการเงิน เพื่อควบคุมอัตราคาดการณ์เงินเฟ้อควบคู่กันไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นราคาสินค้าตามอัตราคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้า" นายกวินโดสกล่าว
นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การดำเนินการของ ECB อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ ECB จะให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา
"มีความเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นี่เป็นความเสี่ยงที่เราจำเป็นต้องรับไว้ เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพของราคาถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ" นางลาการ์ดกล่าว
นางลาการ์ดระบุว่า ในการกำหนดนโยบายการเงิน ECB จะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.0% จากระดับ 8.9% ในเดือนก.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ECB กำหนดไว้ที่ระดับ 2%
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ของยูโรโซนทำสถิติปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 9 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่แผ่กระจายไปทั่วยุโรป รวมทั้งการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ ECB ให้ความสำคัญ ดีดตัวสู่ระดับ 5.5% ในเดือนส.ค. จากระดับ 5.1% ในเดือนก.ค.
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงในวันศุกร์ (16 ก.ย.) โดยได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงในตลาดทั่วโลก ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของอังกฤษที่อ่อนแอเกินคาดได้ตอกย้ำความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศ
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,236.68 จุด ลดลง 45.39 จุด หรือ -0.62%
ความต้องการลงทุนในตลาดหุ้นลดลงทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากการที่เงินปอนด์ของอังกฤษ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 37 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ส่วนหุ้นกลุ่มบริษัทขนส่ง อาทิ หุ้นรอยัล เมล์ ร่วง 8% หลังเฟดเอ็กซ์ คอร์ปของสหรัฐยกเลิกการคาดการณ์ผลประกอบการ โดยบ่งชี้ถึงอุปสงค์ด้านการขนส่งที่ชะลอตัวทั่วโลก
ตลาดการเงินของอังกฤษจะปิดทำการในวันจันทร์ (19 ก.ย.) เนื่องในรัฐพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะจัดการประชุมในวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) ซึ่งตลาดคาดว่า มีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มากกว่า 0.50%
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยในวันนี้ (16 ก.ย.) ว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษปรับตัวลง 1.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ย่ำแย่กว่าคาดการณ์ และเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 เมื่อคิดจากปริมาณ
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษจะปรับตัวลดลง 0.5% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน
ONS ระบุว่า "ภาคส่วนสำคัญทั้งหมด ทั้งภาคร้านจำหน่ายอาหาร และร้านค้าที่ไม่ใช่ร้านจำหน่ายอาหาร รวมถึงภาคค้าปลีกที่ไม่มีหน้าร้าน และเชื้อเพลิง ต่างปรับตัวลดลงในเดือนส.ค. โดยกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในเดือนก.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ยกเลิกมาตรการจำกัดต่อภาคบริการทั้งหมด"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน เวลา 11.00 น.ตามเวลาอังกฤษ หรือ 17.00 น.ตามเวลาไทย
สื่อใหญ่เตรียมถ่ายทอดสดพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน โดยคาดว่าจะทำสถิติผู้ชมทั่วโลกมากเป็นประวัติการณ์จำนวนหลายพันล้านคน
ทั้งนี้ พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน เวลา 11.00 น.ตามเวลาอังกฤษ หรือ 17.00 น.ตามเวลาไทย
ผังรายการประจำวันที่ 19 กันยายนของสำนักข่าว CNN ระบุว่า ทางสถานีจะถ่ายทอดสดพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตั้งแต่เวลา 15.00 น.ตามเวลาไทย จนถึงเวลา 24.00 น.
นอกจากนี้ สำนักข่าว BBC ก็จะถ่ายทอดสดพระราชพิธีดังกล่าวเช่นกัน
สำนักงานตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนแถลงว่า พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ถือเป็นปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ เนื่องจากจะมีผู้นำและประมุขของชาติต่างๆ ซึ่งเป็นกษัตริย์และพระราชินี รวมทั้งสมาชิกในพระราชวงศ์, ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีจากทั่วโลกเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว
"ผมสามารถยืนยันได้ว่านี่จะเป็นปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดของตำรวจนครบาลลอนดอน โดยจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่กว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2012 หรือการจัดงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" นายสจวร์ต คันดี้ ผู้ช่วยรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลลอนดอนกล่าว
ขณะนี้ หีบพระบรมศพแห่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ถูกประดิษฐานไว้ที่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ และเมื่อถึงวันที่ 19 กันยายนจะมีพิธีอัญเชิญพระบรมศพไปประกอบรัฐพิธีที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีจะมีการเคลื่อนพระบรมศพเพื่อประกอบพิธีฝังที่โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จภายในปราสาทวินด์เซอร์
มีการคาดการณ์กันว่า ผู้นำและประมุขของชาติต่างๆราว 2,000 คนจะเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยผู้นำสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศต่างๆที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ต่างก็ได้ตอบรับเทียบเชิญแล้ว ซึ่งจะทำให้พระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของผู้นำโลกในรอบหลายปี
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (16 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนรอคอยผลการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% - 1% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.02% แตะที่ระดับ 109.7640
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3284 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3224 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9648 ฟรังก์ จากระดับ 0.9607 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 142.98 เยน จากระดับ 143.47 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0006 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9996 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1411 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1467 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.6717 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6703 ดอลลาร์สหรัฐ
เฟดจะประชุมนโยบายการเงินเป็นเวลา 2 วันในสัปดาห์หน้า ขณะที่ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนส.ค.นี้ ได้ตอกย้ำความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขึ้น
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 86% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 14% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
ปอนด์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปีเทียบดอลลาร์ในวันศุกร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอังกฤษ หลังยอดค้าปลีกต่ำกว่าคาดในเดือนส.ค.
ปอนด์ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 1.14 ดอลลาร์ในวันศุกร์ แตะระดับ 1.1351 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2528
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษดิ่งลง 1.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.5%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (16 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคบ่งชี้ว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อลดลง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นสหรัฐก็ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยด้วย แต่สัญญาทองคำยังคงปิดตลาดสัปดาห์นี้ร่วงลงเกือบ 3% หลังจากที่ปิดตลาดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อวันพฤหัสบดี
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.2 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 1,683.5 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ร่วงลง 2.6% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 11.2 เซนต์ หรือ 0.58% ปิดที่ 19.381 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 2.7 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 901 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 33.40 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 2,112.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้แรงหนุนหลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 ในเดือนก.ย. จากระดับ 58.6 ในเดือนส.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 60.0 ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 4.8% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2564
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ตลาดกล่าวว่า สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อเก็งกำไร หลังจากราคาร่วงลงสู่ระดับที่ต่ำจนเกินไป
บรรดานักลงทุนจะรอผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%-1.00% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ (16 ก.ย.) แต่ยังคงลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยถูกกดดันจากความวิตกที่ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 85.11 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 1.9% ในรอบสัปดาห์นี้ และลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 91.35 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 1.6% ในรอบสัปดาห์นี้ และลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
ตลาดน้ำมันถูกกดดันจากความวิตกที่ว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อสูงนั้น จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และจะส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงาน
บรรดานักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% - 1% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะหยุดชะงักลงในไตรมาส 4 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือ (โอเปก) ยังคงคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่แข็งแกร่งในปี 2565 และ 2566 โดยอ้างถึงสัญญาณว่า เศรษฐกิจในประเทศใหญ่ ๆ ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้แม้จะเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ก็ตาม เช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
โอเปกระบุในรายงานประจำเดือนว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี 2565 และ 2.7 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับคาดการณ์ของเดือนก่อนหน้า
รายงานระบุว่า การใช้น้ำมันปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในช่วงโควิด-19 แม้ว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงและการระบาดของโควิดในจีนจะปรับลดคาดการณ์สำหรับปี 2565 ก็ตาม
โอเปกเสริมว่า อุปสงค์น้ำมันในปี 2566 คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่งในประเทศผู้บริโภครายใหญ่ เช่นเดียวกับการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลดลง
ทั้งนี้ โอเปกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2565 และปี 2566 และรายงานได้ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของกิจกรรมที่เริ่มฟื้นตัว เช่น การใช้จ่ายสำหรับค้าปลีกในสหรัฐและยูโรโซน และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงขาขึ้นที่อาจเกิดขึ้น
ในขณะที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกคาดว่าจะหยุดชะงักลงในไตรมาสสี่ของปีนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรง แต่อาจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2566IEA ระบุในรายงานประจำเดือนว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา และการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
รายงานระบุว่า IEA ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้ลง 110,000 บาร์เรล/วัน เหลือ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ยังคงคาดการณ์การเติบโตสำปรับปี 2566 ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล/วัน
ขณะเดียวกัน อุปสงค์จากกลุ่มประเทศร่ำรวยใน OECD คิดเป็นอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ขณะที่ประเทศนอก OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนจะหนุนการเติบโตในปีหน้า หากจีนผ่อนคลายกฎควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
BTC ร่วงลงหลุดระดับ 20,000 ดอลลาร์ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.56 น.ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา BTC ร่วงลง 1.29% สู่ระดับ 19,529.50 ดอลลาร์ ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase (NASDAQ:COIN)
ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 400 จุดในช่วงเวลาเดียวกันในขณะนั้น โดยนักลงทุนวิตกว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี
BTC เคยพุ่งขึ้นทะลุ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะทรุดตัวลงต่ำกว่าระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.2565 ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดขนาดงบดุลจะฉุดสภาพคล่องในตลาด และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย