Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด นอกจากนี้ เงินบาทก็ได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากทั้งแรงซื้อสินทรัพย์ไทย และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้น
- โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ดัชนี PMI) ออกมาดีกว่าคาด
- นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งส่วนใหญ่อาจย้ำจุดยืนไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยได้
- และนอกจากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานดัชนี PMI, อัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีก เป็นต้น
- ส่วนในฝั่งของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนี PMI และอัตราเงินเฟ้อ CPI เช่นกัน ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าทะลุโซน 156 เยนต่อดอลลาร์ได้
- สำหรับในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งหากออกมาแย่กว่าคาด หรือ “ติดลบ” อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
- สำหรับ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ หากบรรยากาศในตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยง โดยเฉพาะในจังหวะที่ ดัชนี SET ก็เข้าใกล้โซนแนวต้าน ส่วนเงินบาทก็ติดอยู่แถวแนวรับหลัก (และมีโอกาสรีบาวด์ขึ้น)
- นอกจากนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์อาจมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 1.3 หมื่นล้านบาท ที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
- ในเชิงเทคนิคัล จาก Time Frame รายวัน สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือ อาจแกว่งตัว sideways โดยมีแนวรับหลักแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนแนวต้านจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 36.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนสัญญาณจาก Stochastic ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ จากโซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์
- ส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 เราเริ่มเห็นสัญญาณ Bullish Divergence จาก RSI ที่อาจชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่า สัญญาณ จากทั้ง MACD และ Stochastic ต่างยังคงสะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรือแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังแกว่งตัว sideways ไปก่อน
Gold Highlight
- ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้น หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 2 ครั้ง ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด
- เราคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มราคาทองคำจะขึ้นกับ ทิศทางเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากปัจจัยแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยในสัปดาห์นี้ ควรระวังความผันผวนของราคาทองคำ ในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
- ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำทะลุโซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงได้ โดยเฉพาะหากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI, Stochastic และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสลุ้นปรับตัวขึ้นต่อได้ ทว่า ในส่วนของ RSI ก็เสี่ยงจะเกิดภาพ Bearish Divergence ทำให้ราคาทองคำก็มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways โดยอาจยังติดแถวแนวต้าน 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทว่าสัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือ แกว่งตัว sideways โดยเริ่มเห็นความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจย่อตัวลงได้ จากสัญญาณ Bearish Divergence RSI และโอกาสเกิด Bearish MACD