เศรษฐกิจไตรมาสสี่ 2023 ขยายตัว +1.7%y/y
เร่งขึ้นจากไตรมาสสามตามการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
- GDP Q4 2023
Actual: +1.7%y/y Previous: +1.4%y/y
Consensus: +2.5%y/y
- เศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่ของปี 2023 ขยายตัว +1.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่โตราว +1.4% โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกภาคการบริการ (การท่องเที่ยวจากต่างชาติ) ที่หนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในระดับสูง ขณะที่ปัจจัยกดดันมาจากการหดตัวลงต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
- สศช. ประเมินอัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2024 อาจโตราว +2.2% ถึง +3.2% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน (+2.7% ถึง +3.7%) หนุนโดยจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง คือ ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลและการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ปัญหาหนี้ครัวเรือนและเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากภาวะ El Nino และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกรวมถึงตลาดการเงินโลก
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ กอปรกับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจเคลื่อนไหวเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ ทำให้เราคงมองว่า ธปท. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ทว่าโอกาสที่ ธปท. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงก็สูงขึ้น ซึ่งเราจะรอติดตามการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจของ ธปท. ในเดือนเมษายนอย่างใกล้ชิด
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP) ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ขยายตัว +1.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “แย่กว่า” ที่ตลาดคาดที่ +2.5%
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ของปี 2023 ขยายตัว +1.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยยังมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน +7.4% การส่งออกบริการซึ่งส่วนใหญ่คือ การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง +14.7% ส่วนการลงทุนก็กลับมาขยายตัวดีขึ้น หลังการลงทุนภาคเอกชนโต +5.0% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง -20.1% และ -3.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าพลิกกลับมาขยายตัวราว +3.4% ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงแรงหนุนจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาเป็นขาขึ้น
- สศช. “ปรับลด” คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2024 เป็นขยายตัว 2.2%-3.2% (เดิม ขยายตัว 2.7%-3.7%) โดยในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนโดยรวม การฟื้นตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวราว +3% ส่วนการส่งออกก็จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ราว +2.9% จากที่หดตัว -1.7% ในปี 2023
- นอกจากนี้ ในการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ สศช. ได้ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2024 ในกรอบ 0.9%-1.9% (เดิมคาดการณ์ 1.7%-2.7%) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน สศช. ได้ประเมิน ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2024 อาจเกินดุลราว 1.4% ของ GDP ใกล้เคียงกับการเกินดุล 1.3% ของ GDP ในปี 2023
แม้เศรษฐกิจไทยจะโตน้อยกว่าคาด ทว่าเครื่องยนต์หลักยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย “ยังไม่รีบลด” ดอกเบี้ย ตามที่ตลาดคาด และอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50%
- เราประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2024 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ตามการขยายตัวของเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ ทำให้เศรษฐกิจอาจขยายตัวราว +2.7%y/y ตามที่ ทางKrungthai COMPASS ได้ประเมินล่าสุด บนสมมติฐานที่รัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital Wallet (แต่หากมาตรการ Digital Wallet เกิดขึ้นจริงก็อาจหนุนให้เศรษฐกิจโตได้ถึง +3.7%) นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อก็จะยังมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น กลับเข้าสู่กรอบ 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ สะท้อนจากคาดการณ์ของทาง สศช. หรือของทาง Krungthai COMPASS ทำให้ เราคงมุมมองเดิมว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%
- การแถลงข่าวของทาง ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด ทำให้ เรามองว่า กรรมการอีก 5 ท่าน ที่โหวต “คง” อัตราดอกเบี้ย อาจให้น้ำหนักต่อแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศ มากกว่า ระดับศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจที่อาจลดลง ดังนั้น หากในการประชุม กนง. เดือนเมษายน ไม่ได้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2024 และ 2025 ลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนการเติบโตรวมของเศรษฐกิจและการบริโภคภาคเอกชน เราก็จะคงมุมมองเดิมว่า กนง. อาจมีมติเสียงแตก (5-2 หรือ 4-3) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ได้ในปีนี้ ทว่า หากมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงชัดเจน เช่น การบริโภคภาคเอกชนโตราว +2.5% ก็อาจเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของ กนง. ในปีนี้ได้ ราว 2 ครั้ง ตามที่ผู้เล่นในตลาดกำลังคาดหวังอยู่