ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ ผลการประชุมเฟด รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.
FX Highlight
-
เงินดอลลาร์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
-
โดยเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สนับสนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังการประชุมเดือนพฤษภาคม หรือเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นานกว่าการประชุมเดือนกันยายน
-
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงได้ จากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกหลายครั้ง
-
อนึ่ง บรรยากาศในตลาดการเงิน (Risk Appetite/Sentiment) ก็อาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน โดยหากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งเงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
-
สัปดาห์นี้อาจมีวันทำการไม่มากนักและที่ยังเป็นช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจมีไม่มากหรือไม่มีทิศทางที่ชัดเจน แต่อย่างน้อย แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจเบาบางลง
-
แม้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ชัดเจน แต่เงินบาทยังมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ในสัปดาห์นี้
-
ในเชิงเทคนิคัล ทั้งสัญญาณจาก RSI และ MACD ยังคงสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways โดยมีเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก ส่วนโซนแนวรับจะอยู่ใกล้จุดต่ำสุดในช่วงต้นเดือนเมษายนแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
-
ราคาทองคำยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิม โดยต้องรอจับตา 1) ผลการประชุมเฟด รวมถึง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 2) ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ 3) บรรยากาศในตลาดการเงิน ที่จะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
-
แม้ว่า ราคาทองคำอาจมีการย่อตัวลงบ้าง แต่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังคงรอทยอยเข้าซื้อสะสมทองคำ โดยเฉพาะในช่วงโซน 1,980-1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์
-
หากราคาทองคำปรับตัวหลุดโซนแนวรับดังกล่าว ก็อาจทยอยปรับตัวลดลงสู่โซนถัดไปแถว 1,960-1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ไม่ยาก
-
แต่เรามองว่า โอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงแรงชัดเจนอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มปรับมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดให้ใกล้เคียงกับ Dot Plot อีกทั้งภาพเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอลงมากขึ้น
-
อีกปัจจัยที่อาจหนุนทองคำในช่วงที่เหลือของไตรมาสที่ 2 คือ ปัญหาการเมืองสหรัฐฯ จากประเด็นเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ซึ่งจากสถิติในอดีต ทองคำมักจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือในช่วงตลาดกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ
-
ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD ชี้ว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิม โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์
-
เราคงมุมมองที่เป็นบวกต่อราคาทองคำ (เป้า 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทำให้เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะราคาทองคำปรับฐานในการทยอยเข้าซื้อได้ โดยผู้เล่นอาจทยอยแบ่งไม้เข้าซื้อในโซนแนวรับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับแถว 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผู้เล่นในตลาดอาจชะลอการซื้อ (Cutloss แถว Fibo 38.2% หรือ 1,915 ดอลลาร์ต่อออนซ์) เพื่อประเมินภาพตลาดอีกครั้ง