Economic Highlight
ปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตามและระวัง คือ ปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยตลาดสามารถกลับมาเปิด/ปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว ตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าว
ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีน ในเดือนมีนาคม ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.
FX Highlight
-
เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางราคาทองคำ (โฟลว์ธุรกรรมทองคำ) มากกว่า ทิศทางของเงินดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
-
ควรจับตาปัจจัยความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากความกังวลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไม่เหมือนกัน
-
โดยหากตลาดกังวลสถานการณ์ระบบธนาคารฝั่งยุโรป มากกว่าฝั่งสหรัฐฯ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินฝั่งยุโรป (เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา) กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง
-
แต่หากสถานการณ์ฝั่งสหรัฐฯ มีความน่ากังวลมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็อาจถูกกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่จะยังคงคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก
-
ปัจจัยความกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม กนง. และรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
-
เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยต้องจับตาโซนแนวรับสำคัญแรก คือ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในช่วงปลายเดือนบรรดาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์
-
นอกจากนี้ ควรจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หลังดัชนี SET ได้ส่งสัญญาณกลับตัว ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าซื้อหุ้นไทย (ส่วนหนึ่งอาจมารอเก็งกำไรหุ้นไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง) ก็สามารถช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทได้
-
ในเชิงเทคนิคัล ทั้งสัญญาณจาก RSI และ MACD เริ่มสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทแข็งใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน
Gold Highlight
-
ราคาทองคำผันผวนหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยที่กระทบต่อทิศทางราคาทองคำ ยังเป็น 1) ความกังวลเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป 2) แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งก็จะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแรกด้วย
-
ทั้งนี้ ราคาทองคำเริ่มเผชิญแรงขายทำกำไรมากขึ้นในช่วงใกล้โซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากตลาดปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้น ทะลุโซนแนวต้านได้ไม่ยาก
-
ทั้งนี้ ยังคงต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
-
ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD เริ่มสะท้อนแนวโน้มการแกว่งตัว sideways ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจเน้นการเทรดในระยะสั้น ตามกรอบที่เราประเมินไว้ได้