Headline Inflation October 2022Actual: 5.98% Previous: 6.41%
KTBGM: 6.10% Consensus: 6.00%
-
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 5.98% จากการชะลอตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ราคาอาหารโดยรวมยังอยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกจากภาวะน้ำท่วมหนัก
-
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงในเดือนพฤศจิกายน ตามราคาสินค้าหลายรายการที่ชะลอตัวลงหรือคงที่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาสินค้าพลังงานอาจปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะอุปทานตึงตัว ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ
-
แนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเงินเฟ้อไทย และท่าทีการชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ทำให้เรายังคงมองเดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ครั้งละ 0.25% จนแตะระดับ 1.25% ปลายปีนี้ และแตะระดับสูงสุดของรอบการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ที่ 2.00% ในกลางปีหน้า
-
แม้ว่าตลาดจะรับรู้การทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ไปมากแล้ว แต่ควรติดตามความเสี่ยงต่อทิศทางเงินเฟ้อ อาทิ การอ่อนค่าของเงินบาท รวมถึงทิศทางราคาสินค้าพลังงาน
กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 5.98% ลดลง จากระดับ 6.41% ในเดือนกันยายน
-
กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนล่าสุด เพิ่มขึ้น +0.33% จากเดือนก่อนหน้า เร่งขึ้นจาก +0.22% ในเดือนกันยายน โดยมีปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง +0.73% ซึ่งผลกระทบของภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่เพาะปลูกได้หนุนให้ราคาผักและผลไม้เร่งตัวขึ้น +4.7% ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้กดดันให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลง -0.9% ส่วนราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ต่างปรับตัวขึ้นไม่มากนัก อาทิ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวขึ้นราว +0.2%
-
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 5.98% จาก 6.41% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นราคาสินค้าพลังงานและราคาหมวดอาหารที่อยู่ในระดับสูงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งผ่านต้นทุนที่สูงของผู้ประกอบการเริ่มมีการชะลอลง ดังจะเห็นได้จากการที่สินค้าหลายรายการมีการปรับเพิ่มขึ้นราคาไม่มากหรือคงราคาไว้ระดับเดิม ทั้งนี้ เมื่อหักราคาอาหารสดรวมถึงพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.17%
-
กระทรวงพาณิชย์ มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงในเดือนพฤศจิกายน ตามการชะลอตัวลงของสินค้าหลายรายการ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลงจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ ตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและความเสี่ยงที่ราคาสินค้าพลังงานอาจปรับตัวสูงขึ้น ในภาวะอุปทานตึงตัว อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์คงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 5.5%-6.5% ในปีนี้ (ค่ากลาง 6.0%)
เราคงมองว่า กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ หลังเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่องและเฟดก็อาจเริ่มชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในอนาคต
-
ทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปที่มีการชะลอตัวลงติดต่อกัน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ย้ำว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยไม่ได้เร่งตัวขึ้นจนน่ากังวล นอกจากนี้ หากพิจารณาสัญญาณการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่เริ่มชะลอลงก็อาจพอประเมินได้ว่า เงินเฟ้อทั่วไปควรผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเงินเฟ้ออาจจะทยอยปรับตัวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ในปีหน้า นอกจากนี้ ผลสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นและระยะปานกลางของธปท. ล่าสุด ก็เริ่มชะลอลงตัวลง ทำให้เราคงมุมมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่เปลี่ยนท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย กนง. จะ “ทยอยปรับขึ้น” อัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.25% ได้ในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุด (Terminal Rate) 2.00% ในช่วงกลางปีหน้า
-
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะทิศทางราคาสินค้าพลังงาน หลังจากล่าสุด ราคาสินค้าพลังงานกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด และในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดผ่านการขาดดุลการค้า ตามการนำเข้าที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก โดยในกรณีที่ราคาสินค้าพลังงานเร่งตัวสูงขึ้น เฟดก็อาจต้องกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว หากฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดทุนไทยรุนแรงและต่อเนื่อง กนง. ก็จะสามารถส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่เราประเมินว่า โอกาสเกิดกรณีดังกล่าวยังมีไม่มากนัก อีกทั้งส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯกับไทยที่กว้างมากขึ้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกรุนแรง ดังจะเห็นได้จากสัปดาห์ก่อนที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.75% แต่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิราว 2.8 หมื่นล้านบาท
-
แม้เราประเมินว่า กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 2.00% ในกลางปีหน้า ซึ่งตลาดได้รับรู้แนวโน้มดังกล่าวไปมากแล้ว แต่ระดับบอนด์ยีลด์ระยะสั้น อย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี ของไทย กลับอยู่ในระดับ 1.84% ซึ่งเรามองว่า “ต่ำเกินไป” และอาจเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวสูงขึ้นได้ ในขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะกลาง โดยเฉพาะ บอนด์ยีลด์ 5 ปี ที่ระดับ 2.67% ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำมากนัก และสอดคล้องกับการประเมิน Terminal Rate ของเรา (ในกรณี Best Case เรามองว่า Terminal Rate ก็อาจแตะระดับเพียง 2.50%) ทำให้หากบอนด์ยีลด์ระยะปานกลางมีการปรับตัวสูงขึ้น ก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip
-
ส่วนบอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปีของไทยนั้น แม้ระดับยีลด์ปัจจุบันถือว่าสูงพอสมควร แต่เรามองว่า ความไม่แน่นอนของระดับ “Terminal Rate” ของเฟดนั้น อาจยังส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง และอาจส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ปรับตัวขึ้นใกล้จุดสูงสุดในปีนี้อีกครั้งได้ ซึ่งนักลงทุนควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ในการทยอยเข้าซื้อ เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่เผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น จะทำให้บอนด์ระยะยาวกลับมาเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นได้อีกครั้ง