รับส่วนลด 40%
🔥 กลยุทธ์การหุ้นคัดเลือกโดย AI ของเรา หุ้นเทคฯ ยักษ์ใหญ่ ทะยานขึ้น +7.1% ในเดือน พฤษภาคม เข้าเทรดขณะหุ้นกำลังมาแรงรับส่วนลด 40%

สรุปภาพรวมตลาดทั้งหมดของการปิดตลาดในคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา

เผยแพร่ 21/09/2565 07:47
US500
-
DX
-

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (19 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,019.68 จุด เพิ่มขึ้น 197.26 จุด หรือ + 0.64%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,899.89 จุด เพิ่มขึ้น 26.56 จุด หรือ +0.69% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,535.02 จุด เพิ่มขึ้น 86.62 จุด หรือ +0.76%

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนตลอดทั้งวัน ก่อนที่ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีจะปิดตลาดในแดนบวก ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมเฟดในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 18% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกในตลาดหุ้นสหรัฐแล้ว ยังเป็นการบ่งชี้ว่าเฟดมีปฏิกริยามากเกินไปต่อข้อมูลเศรษฐกิจ และลดโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยหุ้นกลุ่มวัสดุ ทั้งนี้ หุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน พุ่งขึ้น 3.92% หุ้นยูเอส สตีล คอร์ป ดีดขึ้น 1.74% หุ้นวัลแคน มาเทเรียลส์ พุ่งขึ้น 2.24%

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัวขึ้น หลังจากถูกเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยหุ้นแอปเปิล พุ่งขึ้น 2.51% หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ปรับตัวขึ้น 1.18% หุ้นอัลฟาเฟท บวก 0.26%

หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เพิ่มขึ้น 0.89% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ พุ่งขึ้น 1.48% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ปรับตัวขึ้น 0.75%

หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ปรับตัวลง นำโดยหุ้นโมเดอร์นา ดิ่งลง 7.14% หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค ลดลง 1.15% หุ้นไฟเซอร์ ร่วงลง 1.28% หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 Minutes" ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว และกล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสหรัฐเริ่มไม่สวมหน้ากากอนามัยและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่าการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว แม้สหรัฐยังคงเผชิญกับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หลายร้อยรายต่อวัน

ปธน.ไบเดน ระบุในการให้สัมภาษณ์กับรายการ "60 Minutes" ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันพุธ (14 ก.ย.) ว่า "การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้สหรัฐยังคงเผชิญกับปัญหาจากโรคโควิด-19 อยู่ก็ตาม" โดยชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มไม่สวมหน้ากากอนามัยและใช้ชีวิตปกติได้ดีขึ้นแล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของสหรัฐลดลงอย่างมาก จากการยกระดับการดูแล ยารักษาโรค และการฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงมากขึ้น หลังจากในช่วงแรกที่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งสหรัฐมีผู้เสียชีวิตจากโควิดมากกว่า 3,000 รายต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐระบุว่า สหรัฐยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกือบ 400 รายต่อวัน

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดน ได้ขอให้สภาคองเกรสเพิ่มเงินทุนจำนวน 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกรณีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง

ราคาหุ้นของบริษัท Sea ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลงในวันนี้ หลังบริษัทประกาศปลดพนักงานในบริษัทช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซในเครือ โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับลดค่าใช้จ่าย ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงกับบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป

ณ เวลา 21.24 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้น Sea ร่วงลง 1.07% สู่ระดับ 58.38 ดอลลาร์

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า Sea จะปรับลดพนักงานของบริษัทช้อปปี้ในอินโดนีเซียจำนวน 3% โดยจะกระทบพนักงานในฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายการตลาด

ก่อนหน้านี้ บริษัท Shopee Indonesia ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะปลดพนักงานจากจำนวนทั้งหมด 20,000 คนแต่อย่างใด โดยระบุว่าบริษัทยังคงมีผลประกอบการที่ดี และอินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของทางบริษัท

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทม์รายงานว่า บริษัท Shopee Singapore ได้ประกาศปลดพนักงานในวันนี้เช่นกัน โดยเป็นพนักงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายการตลาด ฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาค รวมทั้งฝ่ายวิศวกรรมและผลิตภัณฑ์

การประกาศปลดพนักงานในสิงคโปร์และอินโดนีเซียในวันนี้มีขึ้น หลังจากช้อปปี้ได้ประกาศถอนตัวออกจากตลาดยุโรปและลาตินอเมริกาก่อนหน้านี้ รวมทั้งจากอินเดีย เนื่องจากถูกรัฐบาลอินเดียประกาศห้ามการดำเนินธุรกิจในประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งกับบริษัทจีน

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 3 จุด สู่ระดับ 46 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นลบ

ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนมิ.ย.2557 ก่อนที่จะปรับตัวต่ำกว่าระดับดังกล่าวอีกครั้งในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19

การร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และต้นทุนในการก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายในปัจจุบันต่างปรับตัวลง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 0.5% ในไตรมาส 3

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 1.3% ที่มีการระบุก่อนหน้านี้

เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันพรุ่งนี้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน

ที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ

นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐในปี 2566 เพราะคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการจ้างงาน

โกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สหรัฐในปี 2566 ลงเหลือ 1.1% จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัว 1.5% ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 2565 ไว้ว่าจะอยู่ที่ 0%


การปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP สหรัฐนี้มีขึ้น หลังโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมเดือนนี้ และคาดว่าภายในปลายปีนี้ อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะเพิ่มขึ้นแตะ 4-4.25% โดยหลังพ้นเดือนก.ย.ไปแล้ว เฟดมีประชุมนโยบายอีก 2 ครั้ง ได้แก่เดือนพ.ย. และธ.ค.

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยว่า การที่เฟดมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกับคุมเข้มนโยบายการเงินนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการจ้างงานในปีหน้า โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 3.7% ภายในปลายปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6% ทั้งยังปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราว่างงานปี 2566 ด้วย จากเดิม 3.8% เป็น 4.1%

สถาบันวิจัย CFRA ระบุว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ก็จะเป็นการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป และจะฉุดให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลง

"เราคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% จะสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาด และเป็นการบ่งชี้ว่าเฟดมีปฏิกริยามากเกินไปต่อข้อมูลเศรษฐกิจ และลดโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป" นายแซม สโตวอลล์ นักวิเคราะห์จาก CFRA ระบุในรายงาน

ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 56 ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% เพียง 7 ครั้ง และหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 2.4% ภายในเวลา 1 เดือน, ร่วงลง 1.3% ในเวลา 3 เดือน และฟื้นตัวขึ้น 0.1% ในเวลา 6 เดือน

นอกเหนือจากการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการและภาคการผลิตขั้นต้นเดือนก.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล

ตลาดหุ้นยุโรปปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลงในวันจันทร์ (19 ก.ย.) หลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่นักลงทุนรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก รวมไปถึงการประชุมของธนาคารกลางอื่น ๆ ในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 407.87 จุด ลดลง 0.37 จุด หรือ -0.09%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,061.59 จุด ลดลง 15.71 จุด หรือ -0.26% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,803.24 จุด เพิ่มขึ้น 61.98 จุด หรือ +0.49%

ส่วนตลาดหุ้นอังกฤษปิดทำการวานนี้ (19 ก.ย.) เนื่องในรัฐพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การประชุมธนาคารกลางต่าง ๆ ในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันพุธนี้ และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75%

ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่าง ๆ

หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมนำตลาดปรับตัวขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง

บรรยากาศการซื้อขายได้รับผลกระทบจากข่าวความล้มเหลวของแผนควบรวมกิจการระหว่างบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านทีวี 2 แห่งซึ่งได้แก่ TFI และ M6 ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะท้าทายบริการด้านสตรีมมิ่งของสหรัฐ อย่าง เน็ตฟลิกซ์

หุ้น TF1 ร่วง 2.3% และหุ้น M6 ร่วง 3.4% หลังจากข้อกำหนดด้านการป้องกันการผูกขาดตลาดส่งผลกระทบต่อข้อตกลงดังกล่าว

หุ้นโฟล์คสวาเกน บวก 1.1% หลังจากคาดว่ามูลค่าหุ้นปอร์เช่ในการทำ IPO ในตลาดหุ้นเยอรมนีจะสูงถึง 7.5 หมื่นล้านยูโร (7.51 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งจะเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของเยอรมนี

หุ้นปอร์เช่ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโฟล์คสวาเกน พุ่งขึ้น 3.5%

หุ้นของโฟล์คสวาเกนปรับตัวขึ้น 3% ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดในวันนี้ (19 ก.ย.) สูงกว่าดัชนีหุ้นกลุ่มบลูชิพของเยอรมนี หลังจากโฟล์คสวาเกนตั้งเป้าการประเมินมูลค่าการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของปอร์เช่ เอจี ซึ่งเป็นแบรนด์รถหรูของโฟล์คสวาเกนอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านยูโร (7.484 หมื่นล้านดอลลาร์)

ส่วนหุ้นปอร์เช่ โฮลดิ้ง เอสอี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของโฟล์คสวาเกน ปรับตัวขึ้น 2.7%

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อคืนวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) โฟล์คสวาเกนประกาศว่าจะกำหนดราคาหุ้นบุริมสิทธิของปอร์เช่ เอจีสำหรับเข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 76.5-82.5 ยูโรต่อหุ้น ซึ่งหมายความว่า หุ้นปอร์เช่ เอจีอาจเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดอันดับสองของเยอรมนี

ทั้งนี้ คาดกันว่าหนังสือชี้ชวนพร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นจะเปิดเผยภายหลังในวันนี้

บริษัทโฟล์คสวาเกนแถลงในวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) ว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะระดมทุนสูงถึง 7.5 หมื่นล้านยูโร (7.51 หมื่นล้านดอลลาร์) ในการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของปอร์เช่ เอจี บริษัทผลิตรถสปอร์ตสุดหรูในเครือ ซึ่งจะกลายเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของเยอรมนีโฟล์คสวาเกนเปิดเผยว่า บริษัทจะตั้งราคาขายหุ้นบุริมสิทธิของปอร์เช่ที่ 76.50-82.50 ยูโรต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 7-7.5 หมื่นล้านยูโร

ทั้งนี้ เรฟินิทิฟระบุว่า ราคาสูงสุดของกรอบเป้าหมายที่โฟล์คสวาเกนตั้งเอาไว้จะทำให้การทำ IPO ครั้งนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ยุโรป โดยการซื้อขายจะเริ่มต้นขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ตในวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ย.นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทจะเผยแพร่หนังสือชี้ชวนพร้อมด้วยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในวันนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (19 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ระดับ 109.7360

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0014 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0006 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1420 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1411 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6714 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6707 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 143.25 เยน จากระดับ 142.98 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9655 ฟรังก์ จากระดับ 0.9648 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3269 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3284 ดอลลาร์แคนาดา

ปอนด์ร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปีเทียบดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอังกฤษ

นอกจากนี้ ปอนด์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ จากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ปอนด์ดิ่งลงแตะระดับ 1.1380 ดอลลาร์ในวันนี้ ใกล้แตะระดับ 1.1351 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2528

ปอนด์ร่วงลง 16% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ปอนด์มีแนวโน้มปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในปีนี้นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU)

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษดิ่งลง 1.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.5%

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566

BoE คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว

นอกจากนี้ หลายฝ่ายกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษ เนื่องจากนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีนโยบายปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนของอังกฤษ

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของ BoE ในวันพฤหัสบดี โดยคาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ BoE มีมติ 8-1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค. โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 27 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2538 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 ส่งผลให้ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BoE แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

นอกเหนือจากการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการและภาคการผลิตขั้นต้นเดือนก.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (19 ก.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 5.3 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,678.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.30 เซนต์ หรือ 0.12% ปิดที่ 19.358 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 17.5 ดอลลาร์ หรือ 1.94% ปิดที่ 918.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 108 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 2,220.70 ดอลลาร์/ออนซ์

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 เมื่อคืนนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงดีดตัวขึ้นในวันนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75-1.00% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.9% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.932% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.494% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.547%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนก.ย. ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. และหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ก็จะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สัญญาทองคำมีแนวโน้มดิ่งลงสู่ระดับ 1,600-1,650 ดอลลาร์/ออนซ์ หากเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ยอดขายทองคำในอินเดียมีแนวโน้มอ่อนแอในปีนี้ เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อและสภาพอากาศที่แปรปรวนในฤดูมรสุมอาจจะบั่นทอนรายได้ของเกษตรกร ซึ่งลดความสามารถในการซื้อทองของพวกเขา

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความเป็นอยู่ของเกษตรกรหลายล้านชีวิตในอินเดียนั้นขึ้นอยู่กับฤดูมรสุม โดยฝนที่ตกลงมาอย่างผิดฤดูกาลในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ในภาคกสิกรรมซึ่งเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย ขณะที่ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนก.ค.เป็นอีกปัจจัยที่บั่นทอนความต้องการทองในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก

"ในช่วงต้นปี เรามีมุมมองเชิงบวกอย่างยิ่งต่ออุปสงค์ในปีนี้ แต่ขณะนี้เราตัดสินใจลดประมาณการอุปสงค์ลง" นายชิรัก เชท ที่ปรึกษาของบริษัทเมทัลส์ โฟกัส จำกัดในอังกฤษกล่าว โดยเสริมว่า ภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทองคำในระยะสั้น ขณะที่ เงินเฟ้อและฤดูมรสุมผิดปกติในหลายพื้นที่ของอินเดียอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในเขตชนบท

นายเชทกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทคาดการณ์ว่าอุปสงค์ทองคำในปี 2565 จะแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว โดยลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะมีการเติบโต 7% -8%

ปริมาณการใช้ทองคำในอินเดียพุ่งขึ้นแตะ 800 ตันในปีที่แล้ว เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการสกัดโรคโควิด-19 ได้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ให้ฟื้นตัว ขณะเดียวกันการทะยานขึ้นของอุปสงค์และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้กดดันให้รัฐบาลอินเดียประกาศขึ้นภาษีนำเข้าทองคำ เพื่อลดปริมาณการทะลักเข้าของทองคำ หลังจากช่องว่างด้านการค้าที่กว้างขึ้นของประเทศกดดันให้เงินรูปีอินเดียร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

"ความผันผวนของราคาทองคำตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ประชาชนชะลอการซื้อ" นายอาชิช เพช ประธานสภาเพชรและอัญมณีอินเดียกล่าว อย่างไรก็ตาม ราคาทองในอินเดียเริ่มมีเสถียรภาพแล้วในขณะนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าได้รับการชดเชยจากการลดลงของราคาทองในตลาดต่างประเทศ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (19 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 85.73 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 65 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 92.00 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากมีรายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 3.583 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนส.ค. ส่วนในเดือนก.ค. โอเปกพลัสผลิตน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 2.892 ล้านบาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพุธนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนก.ค. แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบ 2.5% สู่ระดับ 7.38 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 จากระดับ 7.20 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบมากกว่าคาดสำหรับลูกค้าในเอเชีย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาด และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในช่วงฤดูร้อน

ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นปรับตัวลง

การสำรวจดังกล่าวมีขึ้น ก่อนที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) จะเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันในวันพรุ่งนี้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพุธ

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

ความคิดเห็นล่าสุด

การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย