รับส่วนลด 40%
ใหม่! 💥 รับ ProPicks เพื่อดูกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทน ชนะดัชนี S&P 500 มากกว่า 1,183% รับส่วนลด 40%

ทำไมราคาทองคำถึงไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ในช่วงเช้า ทั้งๆที่ดัชนีดอลลาร์ยังไม่ฟื้น

เผยแพร่ 13/09/2565 16:56
อัพเดท 09/07/2566 17:32

สรุปสถานการณ์ตลาดสกุลเงินต่างประเทศในช่วงเช้าที่ผ่านมานะครับ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน และดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY

1. นักลงทุนเทขายสกุลเงินเสี่ยงอย่าง EUR GBP AUD NZD CAD ไปถือครองสกุลเงินปลอดภัยอย่าง JPY CHF ที่ได้แรงหนุนมากเป็นพิเศษ

คู่สกุลเงิน XXXJPY XXXCHF ได้มีการปรับตัวลงทั้งหมด จากการที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยงจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ USD ก่อนการประกาศอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ และหันไปถือสกุลเงินปลอดภัยอย่าง JPY และ CHF

2. สกุลเงิน AUD อ่อนค่าเนื่องจากการกระกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียในเมื่อเช้านี้ออกมาดี ทำให้เพิ่มความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทางธนาคารกลางออสเตรเลียจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากทางธนาคารกลางออสเตรเลียได้มีการส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของออสเตรเลียปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนส.ค. เนื่องจากยอดขายยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูง ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนส่งสัญญาณผ่อนคลายลง

ผลสำรวจจากเนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) ที่เปิดเผยในวันนี้ระบุว่า ดัชนีภาวะธุรกิจออสเตรเลียปรับตัวขึ้น 1 จุด แตะที่ +20 จุดในเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวอย่างมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 2 จุด แตะที่ +10 ในเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว

นายอลัน ออสเตอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ NAB กล่าวว่า "โดยรวมแล้ว ผลการสำรวจบ่งชี้ว่า อุปสงค์ยังคงแข็งแกร่งในเดือนส.ค."

นายออสเตอร์ระบุเสริมว่า "เรายังคงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเริ่มส่งผลกระทบต่องบประมาณของภาคครัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจนถึงขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งแล้วนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. โดยปรับขึ้นทั้งสิ้น 2.25% สู่ระดับ 2.35% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก

นายอเล็กซ์ จอยเนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอฟเอ็ม อินเวสเตอร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.4% ในการประชุมนโยบายเดือนต.ค.นี้ และสิ้นสุดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ในเดือนพ.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจของออสเตรเลียมีความแตกต่างจากหลายประเทศ

ทั้งนี้ การคาดการณ์ของนายจอยเนอร์นั้นเป็นไปในเชิงรุกมากกว่าการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้น 0.25% ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับการส่งสัญญาณของนายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียที่ชี้ว่า RBA อาจลดขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ติดต่อกัน 4 ครั้ง

นายโลว์เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้น แนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลงก็เพิ่มมากขึ้น โดยสวนทางกับนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระบุว่า อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในปลายเดือนต.ค.นี้

นอกจากนี้ นายจอยเนอร์เน้นย้ำว่า RBA ต้องการรักษาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ ในขณะที่ เจ้าหน้าที่นโยบายการเงินในประเทศอื่น ๆ มุ่งมั่นที่จะเอาชนะปัญหาเงินเฟ้อให้ได้โดยเร็ว แม้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยมุ่งสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ดูเหมือนไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะยับยั้งการทรุดตัวของค่าเงินดังกล่าว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวลงประมาณ 3% นับตั้งแต่เดือนพ.ค. โดยได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องแทบไม่ช่วยสกัดการอ่อนค่า โดยธนาคารคอมมอนเวลธ์ ออฟ ออสเตรเลีย คาดการณ์ว่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียจะร่วงแตะ 62 เซนต์สหรัฐภายในต้นปีหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียได้รับผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่เชื่อมโยงกับทรัพยากร ซึ่งอ่อนไหวต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก โดยดอลลาร์ออสเตรเลียอาจประสบปัญหามากขึ้น หากออสเตรเลียรายงานการจ้างงานเดือนส.ค.ที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ หลังหดตัวแบบไม่คาดหมายในเดือนก.ค.

"นโยบายของแบงก์ชาติส่งผลต่อดอลลาร์ออสเตรเลียในวงจำกัดเท่านั้น โดยดอลลาร์ออสเตรเลียไม่เคยทำผลงานดีในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือถดถอย ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งแกร่ง" นายเรย์ อัตทริลล์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราของบริษัทเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ กล่าว

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียเข้าสู่ภาวะขาลงนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค. โดยมีแนวโน้มแตะระดับสนับสนุนที่ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค.ที่ 0.6682 เซนต์สหรัฐ โดยการหลุดระดับดังกล่าวจะเปิดทางให้ดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงสู่ 0.6464 เซนต์สหรัฐ

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแม้แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งหมด 2.25% นับตั้งแต่เดือนพ.ค. โดยในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี แต่ดอลลาร์ออสเตรเลียกลับร่วงเกือบ 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

การอ่อนค่าของสกุลเงิน AUD ส่งผลให้สกุลเงิน NZD มีการอ่อนค่าตามไปด้วย

และการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนยิ่งกดดันให้สกุลเงิน AUD NZD ให้มีการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

3. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าสกุลเงินหยวน สกุลเงิน AUD และสกุลเงิน NZD ซึ่งได้เป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY ยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ แม้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ USD จะถูกเทขายเช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการประกาศอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้

และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ USD ยังได้รับแรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีและ 10 ปียังสามารถทรงตัวอยู่ได้ในระดับสูง

และจากการเทขายสกุลเงินเสี่ยงอย่างสกุลเงิน EUR GBP ออกมาในช่วงเช้าที่ผ่านมานี้ รวมไปทั้งการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของสกุลเงิน AUD และ NZD ทำให้คู่สกุลเงิน EURUSD GBPUSD AUDUSD NZDUSD มีการปรับตัวลงทั้งหมด

ในขณะที่คู่สกุลเงิน USDJPY USDCHF ได้มีการปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงิน JPY และ CHF ตามที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง

4. การอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน สกุลเงิน AUD และสกุลเงิน NZD ได้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถทำให้ราคาทองคำมีการฟื้นตัวขึ้นได้ ถึงแม้สกุลเงิน USD จะถูกเทขาย และดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY จะยังไม่ฟื้นก็ตาม

ในขณะที่การอ่อนค่าลงของสกุลเงินยูโรและสกุลเงินปอนด์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้กดดันราคาทองคำให้มีการปรับตัวลงเช่นกัน

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงในช่วงเช้า เนื่องจาก Ifo สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยในเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวในปีหน้า เพราะต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงจากผลพวงของสงครามในยูเครนได้ทำลายโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังยกเลิกการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19

ตอนนี้ Ifo คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัว 0.3% ในปี 2566 หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะเติบโต 3.7% ในขณะเดียวกัน Ifo ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2566 ถึง 6 จุดเปอร์เซ็นต์ สู่ระดับ 9.3%

สำหรับปี 2565 นั้น Ifo ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ระดับ 1.6% จากการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 2.5% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 8.1% จากก่อนหน้านี้ที่ 6.8%

ส่วนปี 2567 นั้น Ifo คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโต 1.8% และเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2.5%

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตเล็กน้อยในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ

สำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยในเมื่อวานนี้เช่นกันว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของเยอรมนีจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 10.2% ในเดือนก.ค. 2565 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แตะที่ 2.9 พันล้านยูโร (2.95 พันล้านดอลลาร์) เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับความตั้งใจของเยอรมนีที่จะทยอยยุติการนำเข้าจากรัสเซีย

FSO ให้คำอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในภาคพลังงาน เนื่องจากการที่รัสเซียหยุดส่งมอบก๊าซมายังยุโรปเป็นปัจจัยผลักดันค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับครัวเรือนและกิจการต่าง ๆ ในเยอรมนี

FSO รายงานว่า ในเดือนก.ค. เยอรมนีนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นมูลค่าถึง 1.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อน

ส่วนการนำเข้าถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียแตะที่ 0.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 72.5% และการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 0.3 พันล้านยูโร

ในขณะที่สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงในช่วงเช้าที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยในเมื่อวานนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนก.ค. ของอังกฤษ ขยายตัวเพียง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.4%

ข้อมูลที่เปิดเผยในเมื่อวานนี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษขยายตัวน้อยกว่าคาดในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ว่า เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

เศรษฐกิจอังกฤษฟื้นตัวในเดือนก.ค. หลังเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย แต่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากวันหยุดเนื่องในการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ย.นี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษระบุในแถลงการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษ ขยายตัว 0.2% ในเดือนก.ค. หลังปรับตัวลดลง 0.6% ในเดือนมิ.ย.

การปรับลดลงครั้งใหญ่ของเดือนมิ.ย.ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวันหยุดพิเศษ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ก่อนพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

"ตัวเลข GDP ที่ฟื้นตัวเล็กน้อย 0.2% ในเดือนก.ค.นั้นได้รับแรงหนุนจากตัวเลข GDP ที่อ่อนแอในเดือนมิ.ย. ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกดดันจากวันทำงานที่ลดน้อยลง เนื่องในวันหยุดยาวในโอกาสครบรอบครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2" นางยาเอล เซลฟิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเคพีเอ็มจี ยูเค กล่าว

"เรื่องที่น่าวิตกคือ ตัวเลข GDP ของเดือนก.ค.ยังคงต่ำกว่าระดับของเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวโดยรวมในช่วงสองเดือนแรกของฤดูร้อน"

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก่อนสิ้นปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากการพุ่งขึ้นของค่าพลังงานและอาหาร โดยเศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน

ONS กล่าวถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงว่า หลักฐานดังกล่าวอาจชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว

อังกฤษกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรง โดยนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปเตือนว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษจะพุ่งทะลุ 18% ในเดือนม.ค. 2566 โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.ของอังกฤษพุ่งขึ้น 10.1% เมื่อเทียบรายปี ทำสถิติพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนก.พ.2525 จากระดับ 9.4% ในเดือนมิ.ย.

และสกุลเงินปอนด์ยังอ่อนค่าลงจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ออกแถลงการณ์ระบุว่า BoE จะเลื่อนการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนก.ย. จากเดิมที่มีกำหนดในวันที่ 15 ก.ย. ออกไปเป็นวันที่ 22 ก.ย. เพื่อไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

"เนื่องจากสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วงการไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 การประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนกันยายนจึงถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินจะแถลงผลการประชุมในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 กันยายน" แถลงการณ์ระบุ

คู่สกุลเงิน EURUSD GBPUSD มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้า

เราเลยได้เห็น ทองคำ กับ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวลงพร้อมๆกันในเช้าวันนี้

5. ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นในช่วงเช้า ทำให้ราคาทองคำและราคาน้ำมันมีการดีดตัวขึ้นไปก่อนในช่วงแรก ก่อนที่ทั้งคู่จะมีการปรับตัวลงในเวลาต่อมา

ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดปรับตัวขึ้นในวันนี้ตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียที่เปิดบวกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้

ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดตลาดที่ระดับ 3,272.05 จุด เพิ่มขึ้น 10 จุด หรือ +0.31%

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกในวันนี้ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (12 ก.ย.) ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะชะลอตัวลง และจะช่วยลดแรงกดดันในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดที่ระดับ 28,556.21 จุด เพิ่มขึ้น 14.10 จุด หรือ +0.05%, ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,272.05 จุด เพิ่มขึ้น 10 จุด หรือ +0.31% และดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 19,404.64 จุด เพิ่มขึ้น 42.39 จุด หรือ +0.22%

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI เดือนส.ค.จะปรับตัวขึ้น 8.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 8.5% ในเดือนก.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.ของออสเตรเลียจากเวสต์แพค, อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค.ของเยอรมนี, อัตราว่างงานเดือนก.ค.ของอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนก.ย.ของยูโรโซนจากสถาบัน ZEW

ก่อนที่ในเวลาต่อมาตลาดหุ้นจีนจะมีการย่อตัวลง จากการที่ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนระบุว่า รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) ปีนี้ลดลง 22.8% สู่ระดับ 2.87 หมื่นล้านหยวน (4.1 พันล้านดอลลาร์) จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ทรุดตัวลง 39.4% และทรุดตัวลงรุนแรงกว่าในปีที่แล้วซึ่งปรับตัวลง 21.4% ส่วนจำนวนทริปการท่องเที่ยวของจีนในช่วงวันหยุดเทศกาลไหว้พระจันทร์ปีนี้ลดลง 16.7% สู่ระดับ 73.4 ล้านทริปเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายใช้นโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ หลังจากข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า การเดินทางและการใช้จ่ายยังคงทรุดตัวลงในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ นายหลี่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะอุปสงค์ซบเซาภายในประเทศ และผลักดันการอุปโภคบริโภคให้เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยนายหลี่ให้คำมั่นว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าเพิ่มการลงทุนเพื่อกระตุ้นอุปสงค์และฟื้นฟูความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ นายหลี่กล่าวว่า จีนจะใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความผันผวนเล็กน้อยในช่วงที่กำลังฟื้นตัว และเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะสำคัญที่จะต้องใช้มาตรการเร่งด่วน

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในทุก ๆ ด้าน โดยกิจกรรมในภาคโรงงานหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนส.ค. ขณะที่ยอดส่งออกชะลอตัวลงมากกว่าคาด ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และการปล่อยกู้ในภาคธนาคารชะลอตัวลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอในระบบเศรษฐกิจจีน

นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 3.5% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5.5%

จีนประกาศยกระดับการเฝ้าระวังพายุ "หมุ่ยฟ้า" ซึ่งเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 12 ของปีนี้ขึ้นสู่ระดับสีส้มในเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) โดยคาดว่า พายุจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่มณฑลเจ้อเจียงในวันนี้

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (NMC) ของจีนระบุว่า ลมพายุกำลังแรงจะพัดเข้าสู่บริเวณชายฝั่งของไต้หวัน เจ้อเจียง ฟูเจียน เซี่ยงไฮ้ และเจียงซู ตั้งแต่บัดนี้จนถึงช่วงบ่ายวันพุธนี้ และคาดว่าจะมีฝนตกหนักปกคลุมทั่วพื้นที่ของไต้หวัน เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู ชานตง และเหลียวหนิง ในช่วง 3 วันข้างหน้า

ทั้งนี้ NMC ได้แนะนำให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่น และหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงที่มีลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประเทศจีนมีระบบเตือนภัยสภาพอากาศแบบรหัสสีทั้งหมด 4 ระดับ โดยสีแดงแสดงถึงการเตือนภัยขั้นรุนแรงที่สุด รองลงมาคือสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงิน

โดยราคาทองคำมีการปรับตัวลงจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน สกุลเงิน AUD NZD รวมไปถึงสกุลเงิน EUR GBP

ในขณะที่น้ำมันมีการปรับตัวลงจากการเริ่มย่อตัวลงของตลาดหุ้นจีน และการย่อตัวลงของตลาดหุ้นฟิวเจอร์สทั่วโลก

การปรับตัวลงของราคาน้ำมัน ได้ส่งผลให้สกุลเงิน CAD มีอ่อนการค่าลงเช่นกัน

คู่สกุลเงิน USDCAD EURCAD GBPCAD เลยมีการปรับตัวขึ้นในช่วงเช้าที่ผ่านมา

แต่คู่สกุลเงิน AUDCAD NZDCAD ยังมีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของสกุลเงิน AUD และ NZD นั่นเอง

6. ถึงตลาดหุ้นฟิวเจอร์สทั่วโลกจะมีการย่อตัวลง แต่ก็เป็นการย่อตัวลงแบบ sideway down และยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ในระดับสูง จึงยังไม่ส่งผลให้ BTC ETH มีการปรับตัวลง ทำให้ทั้ง BTC และ ETH ยังคง sideway ในกรอบได้เพื่อรอการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้ เวลา 19:30

แต่ทิศทางในตลาดในช่วงบ่ายนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน เยอรมนี และอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดหุ้นยุโรป ราคาทองคำ ราคาน้ำมัน รวมไปถึงสกุลเงิน EUR GBP และดัชนีดอลลาร์สหรัฐ DXY ได้เช่นกัน

และจะทำให้ราคาทองคำมีความผันผวนในช่วงบ่ายที่จะถึงนี้ ก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในคืนนี้!!!

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

ความคิดเห็นล่าสุด

การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย