การแบ่งขั้วของนักลงทุนในสัปดาห์นี้จะยังคงดำเนินต่อไป ฝั่งที่มองโลกในแง่ดีเริ่มให้ความหวังกับการรีบาวด์กลับขึ้นมาของตลาดสินทรัพย์เสี่ยง อ้างอิงจากดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดาวโจนส์ รัสเซล 2000 และแนสแด็กที่สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ 5% 4% 7% และ 8.8% ตามลำดับ
ส่วนนักลงทุนที่มองโลกในแง่ร้าย ก็จะหยิบเอาข้อมูลผลงานการวิ่งของดัชนีทั้งสี่ตลอดทั้งครึ่งปี 2022 ออกมาใส่สีตีข่าว กล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของตลาดทุนในรอบห้าปี ตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้มาจนถึงปัจจุบัน เอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลดลงไปแล้วเกือบ 18% ในขณะที่ดาวโจนส์ปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน 13% ดัชนีแนสแด็ก 100 หนักที่สุดคือขาลง 25.6% และดัชนีรัสเซล 2000 ที่ปรับตัวลดลงมาทั้งหมด 21.4%
ในบทความนี้ของสัปดาห์ที่แล้ว เราเคยคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นมาเพราะอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบราคาขาลงมากเกินไป และจากภาพการวิเคราะห์ทางเทคนิคของแท่งเทียนตลอดทั้งสัปดาห์ที่แล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์
จากรูปจะเห็นว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ดีดตัวกลับขึ้นมาจากบริเวณขอบล่างรอบราคา ถึงแม้ว่าตัวดัชนีจะสามารถสร้างจุดปิดให้สูงขึ้นได้ แต่ก็ยังไม่สามารถขึ้นยืนเหนือจุดต่ำสุดของห้าสัปดาห์ก่อนหน้า ที่กลายเป็นแนวต้านได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เราวิเคราะห์ว่าการดีดตัวกลับขึ้นมาของราคาอาจสิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น มีแนวโน้มที่นักลงทุนฝั่งขายจะเริ่มเพิ่มแรงกดดันจากบริเวณนี้ เพราะยิ่งขึ้นมามากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเข้าใกล้กรอบราคาด้านบนมากขึ้น
โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อในสัปดาห์นี้อาจกลายมาเป็นปัญหาสำหรับนักลงทุนอีกครั้ง เมื่อพวกเขาต้องพิจารณาว่าจะหอบเงินหนีไปลงทุนในตลาดไหนได้่บ้าง แต่ที่แน่ๆ แล้วว่าตลาดพันธบัตรยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ปลอดภัย เมื่ออ้างอิงจากราคากองทุน Vanguard's Total Bond Market Index Fund ETF Shares (NASDAQ:BND) ที่ปรับตัวลดลงมาแล้วตลอดทั้งปีนี้ 11.7% กลาย้เป็นสถิติขาลงที่หนักที่สุดของตัวดัชนีเองตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2007
การที่ BND วิ่งลงมาถึงจุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2008 นำมาซึ่งคำถามว่ายังมีพื้นที่ให้ BND ปรับตัวลดลงได้อีกหรือไม่?
ถ้าจะให้ตอบคำถามนี้ก็ต้องถามตัวนักลงทุนเองก่อนว่าได้มองปัจจัยเศรษฐกิจโดยรอบอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ จริงอยู่ว่าการจะมองว่าการดีดตัวกลับขึ้นมาในสัปดาห์ที่แล้วนั้นเป็นเพื่อการ “ย่อเพื่อลงต่อ” หรือเป็นการ “เริ่มสร้างฐานของขาขึ้นรอบใหม่” ก็เหมือนกับการที่เรามองน้ำในแก้วว่าเป็นน้ำตั้งครึ่งแก้วหรือเป็นน้ำแค่ครึ่งแก้ว
ขาลงที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังมานี้เก่งกาจเรื่องการทำให้นักลงทุนตายใจ หลอกให้มีความหวังว่าอาจจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ ก่อนจะถูกเทขายอย่างไร้ความปราณี นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปีจนกว่าจะสามารถกดเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ลงมาได้ ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะหมายถึงต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้น นี่ยังไม่นับโควิดที่ยังไม่จบ เช่นเดียวกันสงครามรัสเซียยูเครน ที่ยังคงสร้างความปวดหัวให้กับภูมิภาคยุโรป
ปัจจัยเดียวที่เราพอจะเห็นว่าเป็นข่าวดีให้กับตลาดหุ้นในระยะสั้นได้คือการรีบาลานซ์กระแสเงินสดของบริษัทเอกชนในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่สถาบันการเงินเอาข้อมูลตัวเลขกระแสเงินสดออกมาดูว่าสภาพคล่องของบริษัทแต่ละแห่งยังดีอยู่หรือไม่ อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารเจพีมอร์แกน มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นต่อได้อีก 7% จากเหตุการณ์นี้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ดัชนีเอสแอนด์พี 500 มีโอกาสที่จะปรับตัวกลับขึ้นไปยังจุดสูงสุดของเดือนพฤษภาคม
ภาพรวมของตลาดลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราจะมาเริ่มต้นที่ตลาดผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเช่นเคย ซึ่งกราฟอัตราผลตอบแทนฯ ได้ปรับตัวลดลงมา
การปรับตัวลดลงมาเช่นนี้ทำให้แท่งเทียนดาวตก (Shooting Star) ของสัปดาห์ก่อนหน้ายิ่งดูมีน้ำหนักขึ้นมามาก แต่จุดสังเกตก็คือเส้นค่าเฉลี่ย 50 สัปดาห์ได้ตัดเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ขึ้นมาแล้ว ถือเป็นการตัดกันครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2017 ซึ่งในครั้งนั้น กราฟอัตราผลตอบแทนฯ ได้ปรับตัวขึ้นอีกเกือบ 50% ในปีถัดมาหลังจากการตัดกัน
ส่วนอินดิเคเตอร์นั้นยังต้องจับตาดูกันต่อไป เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นใน MACD กำลังลงมาทดสอบเส้นระยะยาว ในขณะที่เส้นของ ROC ก็กำลังทดสอบเส้นเทรนดไลน์ แต่ยังไม่สามารถตัดลงมาได้ ในขณะเดียวกัน ดัชนีดอลลาร์สหรัฐก็ได้ปรับตัวลดลงมาตามกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
สถานการณ์ทางเทคนิคของกราฟดัชนีดอลลาร์คล้ายกันกับกราฟอัตราผลตอบแทน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าสัปดาห์ที่แล้ว เกิดแท่งเทียนรูปแบบโดจิเกิดขึ้น และสัปดาห์ที่ผ่านมา กราฟก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือแท่งของสัปดาห์ก่อนหน้านั้นได้ เมื่อพิจารณาจากเส้นค่าเฉลี่ย ก็พบว่าเส้นระยะสั้นกำลังตัดเส้นระยะยาวขึ้นมา แต่อินดิเคเตอร์นั้นกลับส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลดลงต่อ
ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ติดต่อกันแล้ว
กราฟทางเทคนิคของราคาทองคำปรับตัวลดลงมาใกล้กับจุดต่ำสุดของกรอบสามเหลี่ยมสมมาตรแล้ว การวิ่งขึ้นลงไปมาครั้งนี้อยู่ใกล้กับจุดสูงสุดตลอดกาลของปี 2011 ดังนั้นจึงอาจจะมีนักลงทุนขาขึ้นอาศัยจังหวะที่ซื้อและพยายามดันราคาทองคำให้ปรับตัวกลับขึ้นไป
หลังจากร่วงลงไปจนหลุด $18,000 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 บิทคอยน์ดูเหมือนว่าจะสามารถกลับมายืนเหนือ $20,000 และยังพยายามทรงตัวอยู่เหนือระดับราคานี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
แม้จะไม่รู้ว่าขาลงครั้งใหญ่นี้จะสิ้นสุดลงตรงนี้แล้ว หรือยังไม่โอกาสปรับตัวลงต่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการไซด์เวย์อยู่เหนือ $20,000 ของบิทคอยน์นั้นยังไม่ปลอดภัย ยังมีนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ามีโอกาสที่บิทคอยน์จะลงไปได้มากที่สุดถึงต่ำกว่า $10,000 ในขณะที่บางคนบอกว่าขาลงครั้งนี้อาจจะสิ้นสุดลงที่ $12,500
สุดท้าย ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แรงกดดันจากรูปแบบ Evening Star ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี
ขาลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลบราศีของรูปแบบสามทหารเสือขาขึ้นที่เกิดมาก่อนหน้านั้น ที่สำคัญ ยังเป็นการยืนยันไปให้ตัวด้วยว่าที่บริเวณแนวต้าน $124 ต่อบาร์เรล ไม่ใช่จุดที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นผ่านไปได้ง่ายๆ แต่สัปดาห์นี้ สิ่งที่นักลงทุนขาลงจะได้เจอคือ นักลงทุนขาขึ้นที่ดักรอซื้อ ณ บริเวณเหนือสามเหลี่ยมที่ราคาได้หลุดขึ้นมา
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EDT)
วันจันทร์
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 0.4% เป็น 0.3%
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอการจำนอง: คาดว่าจะลดลงจาก -3.9% เป็น -4.0%
วันอังคาร
04:30 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรปนางสาวคริสตีน ลาการ์ด
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก CB: คาดว่าจะลดลงจาก 106.4 เป็น 100.9
21:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะลดลงจาก 0.9% เป็น 0.4%
วันพุธ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะคงที่อยู่ ณ -1.5%
09:30 (สหราชอาณาจักร) ถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลาง
09:30 (สหรัฐฯ) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลาง
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: ครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 1.956 ล้านบาร์เรล
21:30 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 49.6 เป็น 48.6
วันพฤหัสบดี
02:00 (สหราชอาณาจักร) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะคงที่ 8.7% YoY และ 0.8% QoQ
03:55 (เยอรมัน) รายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน: คาดว่าตัวเลขจะลดลงจาก -4K เป็น -6K
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 229K เป็น 227K
08:30 (แคนาดา) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 0.7% เป็น 0.3% MoM
19:50 (ญี่ปุ่น) ดัชนีที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตขนาดใหญ่จาก Tankan: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 9 เป็น 14
21:45 (ประเทศจีน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจากมหาลัยไซซิน: ครั้งก่อนออกมาอยู่ที่ 48.1
วันศุกร์
03:55 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่ 52.0
05:00 (ยูโรโซน) ดัชนีราคาผู้บริโภค: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 8.1% เป็น 8.3% YoY
10:00 (สหรัฐฯ) ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 56.1 เป็น 55.0