ในที่สุดก็ดูเหมือนว่าเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะรู้ตัวสักทีว่าควรจะทำนโยบายการเงินแบบตึงตัวให้เร็วขึ้นกว่านี้ นั่นคือความหมายของถ้อยแถลงของเขาที่มีต่อเวทีการเงินระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นโดยกองทุนเงินสำรองระหว่างประเทศ (IMF) ในการประชุมเมื่อวันกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์กล่าวว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 3-4 พฤษภาคมนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น เจอโรมยังยืนยันการคาดการณ์ของตลาด ที่เชื่อว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% มาเป็นชุด นั่นจึงทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าภายในปีนี้อาจจะได้เห็นตัวเลขดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ในกรอบระหว่าง 2.75% -3% แทนที่เดิมซึ่งเคยคาดการณ์เอาไว้ที่ 1.9% ดอยซ์แบงก์ เป็นหนึ่งในธนาคารที่คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างฉับพลัน และถ้าเมื่อไหร่ที่เหดขายพันธบัตรรัฐบาลออกจากคลังจนหมด ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า
David Folkerts-Landau และ Peter Hooper นักเศรษฐศาสตร์ของดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่าอาจจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.5% ภายในช่วงกลางปี 2023 และเงินในบาลานซ์ชีทของเฟดจะลดลงจาก $8.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ลงมาเป็น $2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วงสิ้นปี 2023 นี้ แต่เมื่อพูดถึงอัตราดอกเบี้ย 0.75% ที่นายเจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ชอบยกขึ้นมาพูดนั้น ส่วนตัวดอยซ์แบงก์มองว่าเป็นไปได้ยาก
โรแรตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์แม้จะเห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% แต่ก็ไม่เชื่อว่าเฟดจะต้องไปถึงจุดที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 0.75% ชาร์ลี อีแวน ประธานเฟดสาขาชิคาโกก็มีความเห็นไปในทิศทางที่คล้ายกัน ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนแห่ง Osterweis ตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะยกเลิกแผนการจบภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้แบบสวยๆ ไปแล้ว เพราะการจับปลาสองมือทั้งตั้งลดเงินเฟ้อไปพร้อมๆ กับห้ามไม่ให้เศรษฐกิจอเมริกาถดถอยเป็นเรื่องที่จะทำให้สำเร็จพร้อมกันได้ยาก
ในรายงานภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 พบว่าธนาคารกลางยังไม่ได้ตัดสินใจขายพันธบัตรระยะยาวออกไป Osterweis ใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างเหน็บแนมธนาคารสหรัฐฯ ว่าน่าเสียดายที่เมื่อตัดสินใจใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแล้ว แต่กลับมือไม่ถึงในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ และเหล่าคณะกรรมการที่อยู่ในนั้นมักจะชอบพูดถึงคำว่า “ระดับการเงินที่เป็นกลาง” อยู่บ่อยๆ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า กระตุ้นและไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ปัญหาของคำนี้ก็คือว่าไม่มีใครรู้ว่าระดับตัวเลขใดที่เฟดจะพิจารณาว่านี่คือตัวเลขที่เป็นกลางแล้ว ยิ่งเงินเฟ้อตอนนี้ยิ่งทำให้การจะจบสถานการณ์นี้ยากยิ่งขึ้นไปอีก
การถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ ECB รุนแรงมากขึ้น
ข้ามฝั่งไปที่ยุโรป ตอนนี้การถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการทำนโยบายการเงินแบบตึงตัวและผ่อนคลายในธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ยิ่งแบ่งฝั่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ การถกเถียงนั้นส่งเสียงดังมากพอจนนางคริสตจีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ขอให้ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งล่าสุดสงบสติอารมณ์และระงับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไร้เหตุผลเอาไว้ก่อน
เนื่องด้วยคริสตีน ลาการ์ด ไม่เคยมีประสบการณ์การนั่งเป็นประธานธนาคารกลางยุโรปมาก่อน จึงเริ่มมีข่าวว่าเธออาจจะทำหน้าที่นี้ต่อไปไม่ไหว และเริ่มมีชื่อเธอปรากฎขึ้นในสื่อยุโรป ที่เล่นข่าวว่าเธออาจจะลงสมัครแข่งขันชิงเก้าอีเนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส หากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ในการเลือกตั้งหาเสียงเดือนมิถุนายน
ฝั่งสนับสนุนนโยบายการเงินแบบตึงตัวต้องการให้ ECB ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ แม้แต่ Luis de Guindos รองประธานของ ECB ก็ยังแนะนำว่าเดือนกรกฎาคมมีความเป็นไปได้ที่จะยุติการซื้อพันธบัตร และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสเปนท่านนี้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า
“การไม่ยึดตามคาดการณ์เงินเฟ้อและสถานการณ์จำลองของผลกระทบทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเป็นองค์ประกอบสำหรับนโยบายการเงินในอนาคต”