ไมเคิล เบอร์รี่ นักลงทุนชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงจากการทำนายการเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ได้ถูกต้องอาจจะไม่ใช่คนที่ทำนายได้ถูกต้องเสมอไป แม้ในศึกวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เขาจะเป็นฝ่ายชนั แต่หากพูดถึงการชอร์ต (short) หุ้นเทสลาในครั้งนี้…เขาแพ้
แต่ใจความสำคัญในบทความนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาทำนายถูกหรือผิด แต่เป็นประเด็นที่เขาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างหนักว่าไม่ได้ตั้งใจที่จะสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ ในทวีตของเขาในสัปดาห์ที่แล้ว เขาเขียนถึงเฟดว่า
“พวกเขาไม่มีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อเลย การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ทำไปเพื่อให้อย่างน้อยก็จะสามารถได้เปรียบคู่ต่อสู้บ้าง ก่อนที่ราคาหุ้นหรือความสามารถในการบริโภคจะลดลง เหมือนกับการทำ QT อย่างรวดเร็วนั่นละ แต่สุดท้ายเฟดก็ใจอ่อน เลือกที่จะเซฟตัวเองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อเตรียมใช้บาซูก้าทางการเงินครั้งใหม่ เฟดกำลังทำให้ตัวเองมีอำนาจอันชอบธรรมในการช่วยเหลือตลาดเมื่อจำเป็นอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการจำกัดขาลงในตลาดหุ้น”
แลร์รี่ ซัมเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยังคงซัดธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่เลิก ล่าสุดเขาออกมาบอกว่าคำพูดสวยหรูที่ว่าจะสามารถจบภาวะเงินเฟ้อได้อย่างสวยงามเป็นเพียงคำลวงเท่านั้น เขาเชื่อว่าการลงจอดอย่างนิ่มยวลนั้นไม่มีจริง เผลอๆ อีกสองปีข้างหน้าอาจจะได้เห็นการลงจอดแบบไม่มีล้อเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ ในวันที่ดอกเบี้ยสามารถคุมเงินเฟ้อได้ วันนั้นเครื่องบินอาจจะตกไปเรียบร้อยแล้ว
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้หนักกว่านี้อีกใช่หรือไม่?
ดัชนีราคาผู้บริโภค ที่เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อตอนนี้สูงที่สุดในรอบ 40 ปีจนไม่รู้จะสูงอย่างไรแล้ว ตัวเลขในเดือนมกราคมปี 2022 ออกมาอยู่ที่ 7.5% เดือนกุมภาพันธ์ 7.9% และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของเดือนมีนาคมออกมาอยู่ที่ 8.5% YoY แม้แต่ประธานเฟดสายเหยี่ยวสาขาคลีฟแลนด์นางลอแรตตา เมสเตอร์ ยังออกมาพูดที่มหาวิทยาลัย Akron ด้วยตัวเองว่าเฟดจะจับปลาสองมือได้
“ความตั้งใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในตอนนี้คือการดึงสมดุลแห่งอุปสงค์อุปทานให้กลับมา เพื่อที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างอยู่หมัด ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ตั้งใจที่จะขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตของตลาดแรงงานให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”
เลล์ แบร์นาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าการเติบโตของตลาดแรงงานถือเป็นสัญญาณบอกถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญท่ามกลางช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่นอน เธอคิดว่าตอนนี้คือจังหวะที่ดีในการเร่งลดอัตราเงินเฟ้อลงมา ไปพร้อมๆ กับการรักษาระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
คำถามที่ว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ยังคงเป็นคำถามที่ตอบยากในหมู่นักลงทุน ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างคาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม เพราะตอนนี้ปัจจัยที่เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้นคือสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน และการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศจีน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเฟดควรดำเนินการอย่างไรในเร็วๆ นี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปีก่อน
รายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดที่ออกมาเมื่อต้นเดือนนี้ ได้กล่าวถึงการปิดพอร์ตโฟลิโอพันธบัตรรัฐบาลของเฟดที่ 95 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงตัวเลข 9 ล้านล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าการกระทำนี้แสดงให้เห็นว่าเฟดกำลังใช้นโยบายการเงินแบบ "ดุดัน" มากขึ้น
ตอนที่เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกำลังรอการยืนยันของวุฒิสภาเป็นสมัยที่สอง และเบรนาร์ดรอรับตำแหน่งรองประธานธนาคารกลาง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เสนอชื่อซาราห์ บลูม ราสกิน ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานด้านกฎระเบียบการคลัง
ไมเคิล บาร์ (Michael Barr) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงการคลังใต้การบริหารของโอบามา ได้รับความสนใจมากกว่าราสกิน เขามีส่วนสำคัญในการออกแบบสำนักคุ้มครองทางการเงินสำหรับผู้บริโภคซึ่งถูกต่อต้านโดยพวกอนุรักษ์นิยม สำหรับตอนนี้ เขามีโอกาสมากกว่าราสกิน ที่จะได้รับตำแหน่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับดูแลของเฟด ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการผู้ว่าการรัฐมีครบเจ็ดคน นักวิเคราะห์ฺเชื่อว่าการเสนอชื่อกำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากวุฒิสภา