รัดเข็มขัด เตรียมตัวให้พร้อม…เพราะช่วงเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดลงทุนผันผวนมากที่สุดของสัปดาห์! นอกจากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้วยังมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจมากมายไม่ว่าจะเป็นตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาผู้บริโภคของแคนาดา ตัวเลขการจ้างงานของออสเตรเลีย และรายงานตัวเลข GDP ของประเทศนิวซีแลนด์
มาเริ่มต้นกันที่การประชุมที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญมากที่สุดก่อน นั่นก็คือการประชุมอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) สหรัฐฯ ที่จะประกาศในช่วงเวลาตี 01:30 น. ตามเวลาประเทศไทยคืนนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 แน่นอน และพวกเขายังวางแผนที่จะเพิ่มมาตรการยกระดับนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวมากขึ้น อันที่จริงก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดเคยเชื่อว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% แต่นั่นคือสถานการณ์ที่ก่อนรัสเซียจะรุกรานยูเครน และก่อนที่สถานการณ์เงินเฟ้อจะขึ้นมาอยู่ที่ 7.9% ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงมาก นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าเฟดอาจจะไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งแรกได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม ตลาดลงทุนเชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในคืนนี้จะเป็นเพียงการเริ่มขึ้นครั้งแรก ก่อนที่จะมีอีกหลายๆ ครั้งตามมาในปีนี้ ตลาดหวังว่าตลอดทั้งปีจะได้เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวมแล้วมากกว่า 150 จุดเบสิส นั่นจึงทำให้สินทรัพย์การลงทุนที่เป็นของตลาดฝั่งอเมริกาไม่ว่าจะเป็๋นสกุลเงินดอลลาร์ หุ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นก่อนการประชุม FOMC ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าตลาดลงทุนคาดหวังให้ธนาคารกลางทำนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวขึ้นมากน้อยแค่ไหน
สำหรับนักลงทุนที่พร้อมจะเผชิญความเสี่ยงในค่ำคืนนี้ มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่เราพิจารณาแล้วว่าสามารถลงทุนได้ ช่วงเวลานั้นก็คือตอนที่มีการรายงานตัวเลขยอดค้าปลีก เพราะการรายงานตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นก่อนการประชุม FOMC เหมือนเป็นการโหมโรงตลาดก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ ถามว่าทำไมต้องเป็นช่วงรายงานตัวเลขยอดค้าปลีก? เพราะนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะชะลอตัวจากเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ถ้าหากตัวเลขค้าปลีกออกมามากกว่าที่คาดการณ์ ดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าและส่งกราฟ USD/JPY ทะยานขึ้นสู่ระดับราคา 119 ได้
ถามต่อว่าทำไมเราถึงเชื่อว่าตัวเลขค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น? สาเหตุเป็นเพราะการอัตราการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาอาหารและพลังงานจะเพิ่มเพราะเงินเฟ้อก็ตาม ในทางกลับกัน ถ้าหากว่าตัวเลขที่ออกมาไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวเลข 0.4% ของเดือนกุมภาพันธ์ ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงก่อน นักลงทุนบางส่วนจะเลือกปิดออเดอร์ทำกำไรจากตลาดไปก่อน แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือพวกเขาจะเชื่อว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะกดดันระดับความต้องการในเดือนมีนาคมให้ลดลง
เมื่อช่วงเวลาสำคัญที่สุดของวันนี้มาถึง หรือช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มประกาศข้อสรุปของการวางนโยบายการเงิน นักลงทุนทั่วโลกจะได้ทราบว่าท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้เท่าไหร่ และพวกเขามีมุมมองต่อความสามารถในการเติบโตของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสถัดไปอย่างไร โดยปกติแล้วเราจะได้เห็นการคาดการณ์เศรษฐกิจและแผนภูมิภาพ (dot-plot) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพียงสี่ครั้งต่อปีเท่านั้น ซึ่งครั้งนี้เราประเมินว่าจะได้เห็นการคาดการณ์ตัวเลข CPI เพิ่มขึ้น สวนทางกับการลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา (Fed Fund Rate) เราคาดว่าจะต้องถูกปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน เพราะตอนนี้ธนาคาารกลางสหรัฐฯ คงจะใจร้อนไม่ต่างจากนักลงทุนอย่างเราๆ ที่ต้องการทำนโยบายการเงินให้มีการตึงตัวเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ได้มากที่สุด ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และหวังว่าจะยิ่งแข็งแกร่งได้มากกว่านี้อีกหากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียยูเครนบรรเทาลง ถึงกระนั้นเราวิเคราะห์ว่าหลังจากที่การประชุมจบลง ดอลลาร์จะยังไม่วิ่งมากจนกว่าจะได้ฟังถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เพราะนักลงทุนอยากทราบว่าเขาจะพูดถึงแนวโน้มการวางนโยบายการเงินต่อจากนี้ไปตลอดทั้งปีอย่างไร
เชื่อได้เลยว่าคำถามสำคัญที่ทุกคนอยากทราบมากที่สุดจากปากของเจอโรม พาวเวลล์คือเขามีความกังวลมากน้อยแค่ไหนกับราคาสินค้าและพลังงานที่แพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ และจะวางนโยบายการเงินอย่างไรให้เศรษฐกิจอเมริกาสามารถเติบโตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างเช่นเงินเฟ้อและสงคราม หากคำตอบของพาวเวลล์ออกมาเป็นในเชิงทำนโยบายการเงินให้แข็งกร้าวไปเลย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวขึ้นจากความต้องการดอลลาร์ที่มากขึ้น แต่หากเขาแสดงความไม่แน่นอนและกังวลใจออกมาเพียงนิดเดียว ดอลลาร์สหรัฐพร้อมที่จะร่วงลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงทันที
ข้ามฝากไปที่ยูโรโซน ถึงแม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) จะหดตัว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนหยุดช้อนซื้อสกุลเงินยูโรที่อยู่ในโซน oversold ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมา และตลาดหุ้นที่สามารถกลับขึ้นมาปิดบวกได้เมื่อวานนี้ช่วยให้สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย สกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเพราะอัตราการว่างงานในประเทศลดลงจาก 4.1% ลงมาเป็น 3.9%
ที่นิวซีแลนด์ การที่ดัชนี PMI ภาคการบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งค่า ตามมาด้วยสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่กลับมาไม่มีความแน่นอนอีกครั้ง เพราะการล็อกดาวน์ในออสเตรเลียสร้างความกังวลให้กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักลงทุนในดอลลาร์แคนาดากำลังรอรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งสกุลเงินนั้นอ่อนค่าลงตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นทั่วโลก แต่ดัชนี PMI IVEY ในเดือนกุมภาพันธ์ก็ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้